สนับสนุนการทำกิจกรรม ส่งเสริมประชาธิปไตยของชาวเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่

ชื่อบัญชี นปช.แดงเชียงใหม่ ธนาคารออมสิน เลขที่บัญชี 02 0012142 65 7 ( มีผู้รับผิดชอบบัญชี 3 ท่าน )

ติดต่อเรา deangchiangmai@gmail.com

ราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน บล็อค นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชนรุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้สร้างเวปบล็อคไว้ 2 ที่ คือที่นี่ “ แดงเจียงใหม่” สำหรับการบอกกล่าวในเรื่องทั่วไป และอีกที่หนึ่งคือ “ Daeng ChiangMai “ สำหรับข่าวสารที่เราเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารในการร่วมทำกิจกรรมของพี่น้องประชาชน


เชิญร่วมสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันครับ
“แดงเจียงใหม่” " Daeng ChiangMai "

รักประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ สร้างขวัญกำลังใจและความสุขเพื่อปวงชน

การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : สมุดปกขาวโดยสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ . ไพร่สู้บนเส้นทาง ๗๘ ปี ประชาธิปไตย ( ๒๔๗๕ - ๒๕๕๓ ) จรรยา ยิ้มประเสริฐ Voter's Uprising Thai

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก 20 มิถุนายน 2553

เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก 20 มิถุนายน 2553

พรสุข เกิดสว่าง

ศูนย์ข่าว ข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency)

ฉบับที่ 81 (20 มิถุนายน 2553)

หนึ่งปีผ่านไป นับจากวันผู้ลี้ภัยโลกปีที่แล้ว วันเดียวกับที่ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่หนองบัวส่งสัญญาณผ่านสื่อมาว่า พวกเขาได้รับทราบจากทหารไทยว่าพวกเขาจะถูกส่งกลับภายในไม่กี่วัน หลังจากที่เพิ่งข้ามชายแดนมาได้เพียงราว 2 สัปดาห์

ปี 2553 คนไทยในกรุงเทพฯจำนวนไม่น้อย ได้มีประสบการณ์การใช้ชีวิตท่ามกลางสงครามและความหวาดกลัวเป็นครั้งแรก เพื่อนของดิฉันคนหนึ่งเล่าว่า เธอต้องลุกลี้ลุกลนคว้ากระเป๋าถือกับแลปท็อปหนีออกจากอพาร์ทเมนต์ใกล้แยกดิน แดงโดยไม่มีอะไรติดตัว และไปอาศัยอยู่ในที่ทำงานตนที่อยู่ในระยะที่ยังได้ยินเสียงปืนและระเบิดตลอด เวลา ยามเสียงสงบลงบ้าง เธอพยายามแวะเวียนไปดูว่าจะเข้าบ้านของตนได้หรือไม่ แต่ก็ได้แต่มองบ้านในระยะห่าง เข้าไปไม่ได้ ค่ำคืนก็ได้แต่สวดมนต์ภาวนาให้ไฟที่กำลังไหม้ตึกถัดจากบ้านเธอเพียงราว 40 เมตรไม่ลามมาเผาทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอมี

ถึงตอนนี้ คนไทยเราจะเข้าใจสภาพจิตใจของมนุษย์ด้วยกัน ที่ต้องหนีกระสุนปืนและลูกระเบิด ลนลานข้ามแดนมาหาถิ่นปลอดภัยในเมืองไทยมากขึ้น ใช่หรือไม่นะ?

เรากำลังพูดถึงผู้ลี้ภัย ในความหมายที่เข้าใจได้ง่าย ๆ (และ อันที่จริงก็ตรงกับมาตรฐานสากล) นั่นคือคนที่ต้องหนีออกจากประเทศเกิด ด้วยความหวาดกลัวการประหัตประหาร ความรุนแรง สงคราม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันแผ่กว้าง ผู้ลี้ภัยที่ว่านี้จะอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหรือไม่ก็ได้ จะยืนอยู่ในประเทศไทยด้วยสถานะใดหรือไม่มี หรือจะถูกเรียกว่าอะไรก็ตาม พวกเขาก็ย่อมมีสิทธิและศักดิ์ศรีของคนลี้ภัย ด้วยข้อเท็จจริงที่แผ่นดินรับรู้

ประเทศไทยเราให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัย มาแสนนานนับแต่ยุคสงครามอินโดจีน และปัจจุบันนี้เราก็ยังมีผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม ชาติพันธุ์ในค่ายพักริมขอบแดนอยู่กว่าแสน (ผู้มีทะเบียนกับ UNHCR 104,254 คน บวกกับที่ยังไม่มีทะเบียนอีกกว่าสามหมื่นรวมเป็น 139, 239 คน, เมษายน 2553, TBBC) อีกส่วนหนึ่งกระจัดกระจายตามหมู่บ้านชายขอบหรือปะปนอยู่ในกลุ่มแรงงานข้าม ชาติในเมือง รวมถึงผู้ลี้ภัยไทใหญ่ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีค่ายพักทางการ นอกจากนี้ผู้ลี้ภัยจากนานาประเทศ ทั้งใกล้บ้านและห่างไกลหลายพันไมล์ ก็ยังมาแสวงหาความคุ้มครองอยู่ที่นี่

ผู้ลี้ภัยทุกคนที่ดิฉันรู้จัก มีความรักและผูกพันกับประเทศนี้ไม่มากก็น้อย แล้วแต่ประสบการณ์และจำนวนปีที่ใช้ชีวิตร่วมกับคนไทย แม้แต่คนที่มีประสบการณ์ย่ำแย่กับการปฏิบัติของรัฐไทยก็ยังอดรู้สึกผูกพัน กับเมืองไทยไม่ได้ เพราะอย่างน้อยที่สุด มันได้กลายเป็นบ้านหนึ่งของเขาไปแล้ว แม้ใครหลายคนจะไม่อยากยอมรับให้พวกเขานับที่นี่เป็นบ้าน และไม่ยอมรับด้วยซ้ำว่าเขาเป็น "คน ลี้ภัย" ที่จะต้องได้รับความคุ้มครอง

ผ่านมาแสนนาน รัฐไทยจนบัดนี้ก็ยังไม่ยอมเอ่ยปากรับว่าเรามีผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เราได้จัดให้คนกลุ่มหนึ่งได้อยู่ใน "พื้นที่ พักพิงชั่วคราว" (ซึ่งได้ชั่วคราวมาเป็นระยะเวลา 26 ปีแล้ว) โดยความช่วยเหลือทั้งหมดมาจากองค์กรมนุษยธรรมต่างประเทศ และให้สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มีบทบาทในด้านการให้ความคุ้มครอง

โดยหลักแล้ว ผู้ลี้ภัยไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกค่ายมาทำงาน และโดยหลักแล้ว พวกเขาจะไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการดำรงชีวิตเพราะได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างประเทศอยู่ สถานะของ พวกเขาเป็นเพียงผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายที่อยู่ในระหว่างรอการส่งกลับตามมาตรา 54 ของพ.ร.บ.คนเข้าเมืองเท่านั้น เมื่อออกจากพื้นที่พักรอการส่งกลับ ซึ่งก็คือค่ายผู้ลี้ภัย ก็จะต้องถูกจับกุมส่งกลับประเทศ อย่างไรก็ดีในความเป็นจริง หากเราผ่านไปตามค่ายผู้ลี้ภัยบางแห่ง เราก็จะเห็นพวกเขาเดินอยู่หน้าค่ายบ้าง รับจ้างในไร่นาชาวบ้านบ้าง บางคนออกมาทำงานบ้านหรือทำสวนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นก็มี

นั่นเพราะในความเป็นจริง (อีกเช่นกัน) เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นย่อมเข้าใจดีว่า ผู้ลี้ภัยไม่ได้อยู่โดยไม่ต้องใช้จ่ายใด ๆ ไม่มีองค์กรเอกชนใดจะสามารถหางบประมาณมาครอบคลุมทุกสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งจะ พึงต้องการ ไม่มีมนุษย์คนใดจะสามารถอยู่ได้ด้วยอาหารปันส่วนที่แม้ปริมาณและคุณค่าทาง โภชนาการเพียงพอ ก็จะเป็นแบบเดียวกันทั้งปีโดยไม่มีเนื้อสัตว์ผักสด ที่สำคัญการเข้าโรงเรียนในค่ายผู้ลี้ภัยก็ไม่ได้ปราศจากค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ในฐานะมนุษย์สามัญคนหนึ่ง พ่อแม่ย่อมไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่ปรารถนาจะให้ลูกได้กินขนมหรือมีของเล่น ราคาไม่กี่บาทไว้หยิบจับ หนุ่มสาวไม่อาจอยู่ได้โดยไม่ปรารถนาจะทาแป้งทานาคาบนใบหน้าหรือมีเสื้อตัว ใหม่สวยสมวัย หากเราจะบอกว่า คนลี้ภัยควรจะเจียมตัว และไม่ต้องมาปรารถนาจะกินขนม แต่งตัว เขียนจดหมาย ฟังเพลง ดูหนัง ติดต่อสื่อสารกับพี่น้องเพื่อนฝูงภายนอก ฯลฯ เราคงต้องถามตัวเองว่า เราเองสามารถจะดำรงอยู่ในสภาพเช่นนี้ได้หรือไม่ ชั่วคราวอาจจะได้ แต่คงไม่ใช่หลายปี หรือกว่ายี่สิบปีเช่นนี้

ทั้งหมดที่ดิฉันเล่ามานี้ คือสุขและทุกข์ของผู้ลี้ภัยในค่ายที่ดำเนินมาเนิ่นนานยังไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับผู้ลี้ภัยนอกค่ายก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักเช่นกัน พวกเขาอาจอยู่ในสภาพเสรีกว่า ทว่าก็ต้องหวาดกลัวกับการถูกจับกุมคุมขัง เพราะไม่มีกฎหมายใดรองรับแม้กระทั่งผู้ที่ผ่านการพิจารณาจาก UNHCR แล้วว่าเป็นผู้ลี้ภัยจริง บางคนต้องอยู่ในห้องกักตรวจคนเข้าเมืองเพื่อรอจนกว่าจะมีประเทศที่สามยอมรับ เสียด้วยซ้ำ

เมื่อมีคนถามดิฉันถึงความเปลี่ยน แปลงทั้งที่งดงามและดำมืดภายในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ดิฉันจึงคิดว่าเราคงจะต้องย้ำเตือนตัวเองถึงความน่ารักและไม่น่ารักของ ประเทศไทยที่ได้เป็นมาอยู่ก่อนหน้าหนึ่งปีที่ผ่านมาเช่นกัน เพราะทุกสิ่งที่เกิดในหนึ่งปีที่แล้วนี้ ล้วนเป็นผลพวงหรือภาคต่อก็สิ่งที่เคยเกิดหรือดำเนินมาตลอดทั้งนั้น

แล้วหนึ่งปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น? ในส่วนที่เราพอจะยิ้มกันได้ เพื่อนหลายคนเล่าให้ฟังว่า ดูเหมือนความร่วมมือระหว่างราชการท้องถิ่นกับองค์กรเอกชนและ UNHCR ในการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อผู้ลี้ภัยก้าวหน้าไปได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจภัยมากขึ้นที่จะรับแจ้งความ ดำเนินการต่าง ๆ รวมถึงทางมหาดไทยก็อนุญาตให้ผู้เสียหายและพยานออกมาสถานีตำรวจหรือศาลได้โดย สะดวก ที่น่ายินดีก็คือ ผู้ลี้ภัยหลายคนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งทางอาญาและแพ่ง บางคนต่อสู้คดีจนได้ค่าชดเชยความเสียหายที่ตนได้รับ นี่คือสิ่งที่เมื่อราว 5 ปีก่อนจะไม่เกิดขึ้น

ตุลาคม 2552 สำนักทะเบียนกลางได้มีหนังสือสั่งการเรื่อง"การแจ้งเกิดและตายสำหรับคนซึ่ง ไม่มีสัญชาติไทยในกลุ่มผู้ลี้ภัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว" ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องมาจากพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร
ปีพ.ศ. 2551 นี่หมายความว่า ลูกของผู้ลี้ภัยในค่ายจะได้รับการจดทะเบียนการเกิด มีสูติบัตร ได้รับการรับรองว่ามีตัวตน มีสถานะบุคคลในประเทศไทย ต่างจากพ่อแม่ของพวกเขาที่มีเพียงบัตรประจำตัวของ UNHCR/มหาดไทยซึ่งไม่มีความหมายหรือสถานะใด ๆ ตามกฎหมายไทยเลย ถึงแม้ในทางปฏิบัติ ท้องถิ่นจะยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ดิฉันก็ยังเชื่อว่า นี่คือก้าวสำคัญก้าวแรกที่จะยอมรับตัวตนของผู้ลี้ภัย (เด็ก) ในประเทศไทย

ข่าวดีมีนาคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ผู้มีปัญหาสถานะหลายกลุ่มได้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพ แน่นอนว่าตรงนี้ไม่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในค่ายที่ได้รับการบริการสุขภาพจาก องค์กรมนุษยธรรมต่างประเทศอยู่แล้ว แต่นับว่าเป็นประโยชน์กับกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีทะเบียนประวัติชัดเจนซึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานของผู้ลี้ภัยนอกค่าย จะว่าไปแล้ว นโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและแรงงานข้ามชาติ ทั้งดีหรือล้วนส่งผลต่อผู้ลี้ภัยกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายพัก ด้วยกันทั้งสิ้น

แต่ในหนึ่งปีที่ผ่านมาไม่ได้มีแต่ รอยยิ้ม ทุกข์ที่สาหัสที่สุดแห่งปี เห็นจะเป็นการที่ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่ที่พักพิงชั่วคราวหนองบัวและอุสุ ทะ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ถูกกดดันให้กลับถิ่นฐานทั้งที่จำนวนไม่น้อยไม่เต็มใจ และยังอยู่ในความหวาดกลัว

ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ คือคนกว่าสามพันคนที่อพยพหนีเข้าประเทศไทยเมื่อราวสองสัปดาห์ก่อนวันผู้ลี้ ภัยโลกปีที่แล้ว พวกเขาได้พักพิงอยู่ในที่พักที่ไม่เป็นทางการและชั่วคราว ขนานแท้ (เพราะพื้นที่พักพิงที่เป็น ทางการทั้ง 9 แห่งนั้น เป็นพื้นที่ที่ติดป้ายไว้ว่า "ชั่วคราว" เช่นกัน) ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรมนุษยธรรมในระดับหนึ่ง และอยู่ในการดูแลของทหารแทนที่จะเป็นมหาดไทยดังเช่นในค่ายพักทางการ

สัญญาณการส่งกลับเกิดขึ้นเพียง 16 วันให้หลังจากที่พวกเขาก้าวเข้ามาบนแผ่นดินไทย เงียบหายไปชั่วคราว และตามมาอีกในสามเดือนถัดมา ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมผู้นำบางคน การห้ามไม่ให้ซ่อมหลังคาโรงเรียนชั่วคราว การกำหนดกฎเกณฑ์เข้มงวดสารพัด การตรวจยึดโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ การไล่ตามถามซ้ำทุกวันว่าจะกลับเมื่อไร การย้ำซ้ำว่าอย่างไรเสียพวกเขาก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่เมืองไทย การจัดการส่งกลับ 3 ครอบครัวที่ย้อนข้ามน้ำกลับมาในเพียงวันรุ่งขึ้น ฯลฯ (ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน ม.ค.-เม.ย. 2553) ทั้งนี้ ในขณะที่ผู้ลี้ภัยส่วนหนึ่งกล่าวชัดเจนว่าไม่สามารถและไม่กล้ากลับไปยังหมู่ บ้านเดิมด้วยหวาดกลัวกองกำลังฝ่ายตรงข้ามและกับระเบิด

แม้จะมีหลายฝ่ายพยายามยื่นมือเข้ามา เรียกร้องความยุติธรรมและความคุ้มครองให้กับผู้หนีการประหัตประหารกลุ่มนี้ สถานการณ์ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ไม่เคยประสงค์จะลี้ภัยในเมืองไทยระยะยาวในค่ายผู้ลี้ภัย ทางการ แต่ถ้าจะให้เลือกระหว่างกลับไปสู่อันตรายกับเข้าค่ายผู้ลี้ภัย พวกเขาก็จำเป็นต้องเลือกอย่างหลัง ซึ่งอย่างไรก็ดี ทางเลือกที่จำกัดจำเขี่ยนี้ไม่ได้รับการเสนอให้แก่พวกเขาเลยด้วยซ้ำ ในที่สุดพื้นที่พักพิงทั้งสองแห่งก็ปิดลงสำเร็จในวันที่ 1 - 2 เมษายน 2553

ผู้ลี้ภัยจากกลุ่มหมู่บ้านที่แจ้งแต่ แรกว่าจะกลับถิ่นฐานเพียงอยากรอดูข้อตกลงระหว่างคู่สงครามที่แน่ชัด และเป็นห่วงเรื่องอาหารการกินเพราะไร่นาถูกทิ้งร้างไว้ ก็จำเป็นต้องกลับหมู่บ้านตนเองหรือไม่ก็ไปหลบอยู่ในลักษณะเป็นคนพลัดถิ่นใน ประเทศ หากประชากรนับพันของอีกหมู่บ้านหนึ่งซึ่งยืนยันไม่กล้ากลับ ก็ได้กระจัดกระจายกันไปตามยถากรรม ทั้งไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ในฝั่งพม่า แอบอาศัยในกับญาติพี่น้องหรือคนรู้จักในหมู่บ้านหรือค่ายผู้ลี้ภัยฝั่งไทย หรือไม่ก็เข้าเมืองไปทำงาน

นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ "Refoulement" (การบังคับหรือกดดันส่งกลับ) ครั้งแรกของประเทศไทย แต่ใครหลายคนคงภาวนาให้มันเป็นครั้งสุดท้าย เรามีประวัติการผลักดันผู้ลี้ภัยกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยกลับเป็นระยะจนจำแทบไม่ ได้ เช่น การผลักดันผู้ลี้ภัยที่กาญจนบุรีเมื่อปี 2540 การผลักดันผู้ลี้ภัยจากค่ายแม่ลามาหลวง 58 คนเมื่อปี 2551 การส่งกลับแรงงานข้ามชาติรวมทั้งชาวโรฮิงญาอย่างเหมารวมโดยไม่มีการพิสูจน์ ว่ากลับได้หรือไม่ เป็นต้น

แต่เราจะมีหลักประกันอะไรให้กับผู้ลี้ ภัยได้บ้างล่ะ? ในเมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา ยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใด ๆ รองรับความเป็นผู้ลี้ภัยของคนนอกค่ายว่าจะมี "สิทธิที่จะไม่ถูกผลักดันกลับไปสู่อันตรายในประเทศตน" อันเป็นจารีตสากลพื้นฐานเลย ในขณะที่กระบวนการรับผู้ลี้ภัยใหม่ในค่ายผู้ลี้ภัยก็ปิดตัวเงียบสนิท

กระบวนการนี้ที่ดิฉันว่านี้ หมายถึงการคัดกรองเพื่อให้ได้สถานะอันไม่เป็นทางการ (คือมีบัตรประจำตัวที่กฎหมายไม่ได้รองรับดัง กล่าว) แต่จะนำมาซึ่งความช่วยเหลือความคุ้มครองที่ชัดเจน และผู้ลี้ภัยใหม่ที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงคนไม่กี่คนที่เพิ่งเข้ามาใน "เร็ว ๆนี้" แต่หมายถึงคนที่เข้ามาหลังกระบวนการคัดกรองของคณะกรรมการระดับจังหวัดในปี พ.ศ. 2548 ราวกว่า 3 หมื่น (ตัวเลขส่วนต่างระหว่างผู้ที่อยู่ในค่ายกับผู้ที่มีทะเบียนกับ UNHCR/มหาดไทยแล้ว ต่างกัน 34, 392 คน, TBBC เม.ย. 53) คณะกรรมการจังหวัดต่าง ๆ นี้ไม่ได้ประชุมอีกเลยนับจากนั้น ยกเว้นของแม่ฮ่องสอนซึ่งประชุมครั้งสุดท้ายไปเมื่อ 4 มีนาคม 2552 โครงการทดลองการคัดกรองที่จะทำในระดับอำเภอแทน (pre-screening pilot project) ได้เริ่มขึ้นวันเดียวกันในบางค่าย แต่ก็ไม่เคยมีผลใด ๆ ออกมากระทั่งบัดนี้ แม้จะได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอยู่ ผู้ลี้ภัย "ใหม่" จึงยังอยู่ในสถานะอันง่อนแง่นเปราะบางต่อการส่งกลับ และเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมายที่ดิฉันเอ่ยถึงในข้างต้นไปแล้วได้ยาก อีกทั้งสิทธิในการทำงานเป็นอาสาสมัครกับองค์กรมนุษยธรรมในค่ายก็ยังเป็น ปัญหา

นอกค่าย นโยบายให้แรงงานจากประเทศพม่าไปพิสูจน์สัญชาติในประเทศตนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ตน แม้จะเอื้อประโยชน์ให้คนจำนวนหนึ่งได้ถือพาสปอร์ตและเดินทางได้โดยไม่ต้อง หวั่นเกรงการจับกุมอีก ก็กลับส่งผลร้ายต่อผู้ลี้ภัยนอกค่ายที่ไม่มีทางจะ กล้ากลับไปสู่มือเจ้าหน้าที่รัฐที่พวกเขาหนีมา การประกาศชัดเจนว่าผู้ที่ไม่ไปหรือไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติจะต้องถูกส่ง กลับ ทำให้ผู้ลี้ภัยนอกค่ายต้องแอบซ่อนตัว หลายคนที่เคยถือใบอนุญาตทำงานชั่วคราวก็ตัดสินใจที่จะทิ้งสถานะทางกฎหมายนี้ กลับไปหลบซ่อนอยู่แบบใต้ดินเหมือนเก่าก่อน

แล้วหนึ่งปีถัดไป เราจะได้เห็นอะไรกัน ผู้ลี้ภัยเกินแสนทั้งนอกและในค่ายคงจะยังรู้สึกขอบคุณ ที่พวกเขาได้พ้นจากภัยประหัตประหารมาเสียได้ แต่เมื่อไรจะถึงเวลาที่รัฐไทยจะยอมรับความจริงเสียทีว่า การไม่ยอมรับผู้ลี้ภัย ไม่ยอมคัดกรองพิสูจน์สถานะให้ชัดเจน หรือกระทั่งการสร้างกรอบจำกัด กดดัน ส่งกลับ ไม่ยอมให้เข้าประเทศ โดยอ้างว่าทุกคนควรจะไปเรียกร้องกับรัฐบาลและกองกำลังชนเผ่าในพม่าเสียก่อน ไม่สามารถทำให้ผู้ลี้ภัยหายตัวไปเป็นอากาศธาตุ เมื่อพวกเขาเป็นผู้ลี้ภัยที่แท้ที่กลับบ้านไม่ได้ พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำตัวล่องหนอยู่ในประเทศไทย

อย่างน้อยที่สุด หากครั้งหนึ่งเราเคยหวาดกลัว สูญเสีย และเผชิญกับความรุนแรงที่เราควบคุมอะไรไม่ได้ดังที่เพิ่งเกิดขึ้นมา เราคงจะได้ตระหนักถึงความจริงแล้วใช่หรือไม่ที่ว่า มนุษย์คนหนึ่งนั้นมีเลือดเนื้อและความปรารถนาในชีวิตที่สันติและมีศักดิ์ศรี อาจจะมีหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตที่เราไม่ได้อยากให้เกิดขึ้น ดังเช่นการอพยพหลั่งไหลของคนลี้ภัย แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็จำต้องเดินหน้าต่ออย่างยอมรับความจริง

ดิฉันเชื่อว่า การกล้าสู้กับความจริงอย่างกล้าหาญ จะทำให้เราทั้งหลายอยู่กันได้ ด้วยความมั่นคง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น