องค์กรตุลาการ และบุคลากรในองค์กรย่อมถูกตรวจสอบได้เสมอ จะด้วยกระบวนการขั้นตอนใดนั้นย่อมเป็นไปโดยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หากองค์กรใดหรือบุคคลใดไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ ย่อมกลายเป็นองค์อธิปัตย์อิสระที่อยู่เหนือรัฐหรือแยกออกจากรัฐไป
โดย ชำนาญ จันทร์เรือง
จาก กรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ว่าหลังจากที่ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมิให้นำมติคณะรัฐมนตรีที่สนับสนุนการ ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของเขมร
ซึ่ง ครม.และกระทรวงการต่างประเทศได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่ง นายอักขราทร จุฬารัตน ในฐานะประธานศาลปกครองสูงสุดในขณะนั้นได้สั่งให้จ่ายสำนวนคดีดังกล่าวให้แก่ องค์คณะที่ ๒
ต่อมาองค์คณะดังกล่าวได้มีมติ ๓ ต่อ ๒ ให้กลับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองชั้นต้น แต่ในขณะที่ยังมิได้ลงนามในร่างคำสั่งฯ นายอักขราทรได้มีคำสั่งเปลี่ยนองค์คณะไปเป็นองค์คณะที่ ๑ ซึ่งมีนายอักขราทรเป็น หัวหน้าคณะเป็นผู้พิจารณาแทน และมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๑ ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง
ประเด็น จึงมีอยู่ว่าการสั่งเปลี่ยนองค์คณะดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญและระเบียบวิธี พิจารณาคดีของศาลปกครองหรือไม่ หากไม่ชอบจะเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของตุลาการหรือไม่ และที่สำคัญก็คือเข้าข่ายการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมที่อยู่ ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช.ตามมาตรา ๘๔ ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ หรือไม่
ใน ประเด็นที่ว่าด้วยการสั่งเปลี่ยนองค์คณะดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญและ ระเบียบวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครองหรือไม่ นั้น พิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ในกรณีดังกล่าวนั้นไม่ปรากฏเหตุว่า ตุลาการหรือองค์คณะดังกล่าวมีพฤติการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมหรือ ถูกคัดค้าน หรือมีสำนวนคั่งค้างเป็นจำนวนมาก จนกระทบต่อการพิจารณาคดีนี้แต่อย่างใด ดังปรากฏในข้อเท็จจริงว่าองค์คณะได้พิจารณาเสร็จสิ้นจนมีมติออกมาแล้ว
ที่ แน่ๆก็คือว่ามีผู้เห็นแย้งกับการสั่งเปลี่ยนองค์คณะดังกล่าวและเชื่อว่าต้อง เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในสำนวนคดีนี้เอง ถึงแม้ว่าคำร้องต่อ ป.ป.ช.จะไม่ระบุชื่อผู้ร้องก็ตาม แต่คำร้องมีรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการในศาลปกครองอย่างละเอียดแบบ มืออาชีพ และยังชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนองค์คณะตุลาการในกรณีนี้เป็นการใช้อำนาจ หน้าที่แทรกแซงความเป็นอิสระของตุลาการ
ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมา นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุลประธาน ศาลปกครองสูงสุดคนปัจจุบันจะออกมาให้สัมภาษณ์ต่อกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ ๔ มี.ค.ว่าเป็นการสละคืนสำนวนขององค์คณะด้วยเหตุว่ามีสำนวนคั่งค้างอยู่เป็น จำนวนมาก ซึ่งก็ฟังดูพิกลๆอยู่ เพราะตามข้อเท็จจริงนั้นองค์คณะได้มีมติไปแล้ว
ส่วนประเด็นที่ว่า เข้าข่ายการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมที่อยู่ในอำนาจการไต่สวน ของ ป.ป.ช.ตามมาตรา ๘๔ ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและการทุจริตฯหรือไม่ นั้น เห็นว่า ป.ป.ช.มีอำนาจการไต่สวนตุลาการศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗๐ ที่ให้อำนาจ ป.ป.ช.ในการไต่สวนตุลาการหรือผู้พิพากษาที่ส่อว่ากระทำผิดต่อต่อตำแหน่ง หน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ประกอบกับมาตรา ๘๔ ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
ฉะนั้น ป.ป.ช.จึงมีมติรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ และ ป.ป.ช.ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๕(๑) ของพ.ร.บ.ดังกล่าวเรียกเอกสารหรือหลักฐานใดใดเพื่อประโยชน์ในการไต่สวนข้อ เท็จจริงไปยังสำนักงานศาลปกครอง หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.)ได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวเมื่อ วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ ก.ศป.ไม่ได้มีมติใดๆออกมาเพราะในที่ประชุมมีความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจตุลาการโดยแท้ สำนักงานศาลปกครองไม่จำเป็นต้องชี้แจง แต่อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งแน่นอนว่าบางส่วนคงต้องเกี่ยวข้องกับองค์คณะที่ถูก เปลี่ยนเป็นแน่แท้ เห็นว่าหาก ก.ศป.มีมติไม่ให้เลขาธิการสำนักงาน ศาลปกครองส่งเอกสารหรือชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ก็เท่ากับว่ามีมติให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองกระทำผิดกฏหมาย พูดง่ายๆก็คือเห็นว่า ป.ป.ช.มีอำนาจในกรณีนี้นั่นเอง
ในเมื่อ กศป.ไม่มีมติออกมาแต่อย่างใด และไม่แน่ว่าในการประชุม ก.ศป.ในวันที่ ๑๖ มี.ค.ที่จะถึงนี้ ก.ศป.จะสามารถมีมติออกมาได้หรือไม่ เพราะเสียงยังแตกออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน ภาระจึงตกหนักต่อเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองว่าจะตัดสินใจปฏิบัติอย่างไร ฝ่ายหนึ่งคือ ก.ศป.ซึ่งมีประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน ก.ศป.โดยตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง สามารถให้คุณให้โทษได้ แต่อีกฝ่ายหนึ่ง คือ ป.ป.ช.ที่ถึงแม้จะไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาแต่ก็ถือกฎหมายอยู่ในมือคือ มาตรา ๒๕(๑)ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและการทุจริตฯ ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตามในที่สุดแล้วผมเชื่อว่า เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองหรือผู้รักษาการ(เนื่องจากเลขาธิการตัวจริงชิงลา ออกหนีเผือกร้อนไปสมัคร ส.ว.เสียแล้ว)ก็คงต้องส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องและคำชี้แจงที่สามารถหาได้ (เพราะหากเป็นเอกสารในสำนวนต้องขออนุญาตตุลาการเสียก่อน)ไปยัง ป.ป.ช.แบบแกนๆหรือไม่เช่นนั้นก็คงดึงเรื่องให้ยาวออกไป แต่ก็คงดึงเรื่องออกไปได้ไม่นานนักก็จำต้องปฏิบัติอยู่ดี แต่หากว่าสำนักงานศาลปกครองไม่ปฏิบัติก็จะเป็นการเข้าข่ายการละเว้นการ ปฏิบัติหน้าที่
แต่หากมีการตอบปฏิเสธจาก สำนักงานศาลปกครอง ป.ป.ช.ก็ต้องดำเนินการต่อไปในส่วนของคดีอาญา มิใช่การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามคำให้สัมภาษณ์ของเลขาธิการ ป.ป.ช.เพราะมิใช่กรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐ ธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๔ แต่เป็นการโต้แย้งว่า ป.ป.ช.มีอำนาจดำเนินการต่อ นายอักขราทรในกรณีนี้หรือไม่
หากจะส่งศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นกรณีตามมาตรา๒๑๑ที่ตุลาการศาลปกครองเห็นว่า ป.ป.ช.ใช้กฎหมายที่ไม่ชอบรัฐธรรมนูญกับตนต่างหาก
ประเด็น สำคัญที่ยกเรื่องดังกล่าวมานี้ประเด็นคงมิใช่ว่าเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง หรือผู้รักษาการฯจะส่ง คำชี้แจงหรือไม่ส่ง อดีตประธานศาลปกครองสูงสุดซึ่งเกษียณอายุราชการไปแล้วทำถูกหรือไม่ถูก แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจตุลาการต่างหากที่เป็น ประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณา
เพราะไม่ว่าองค์กรใดๆถึงแม้ว่าจะเป็น องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็ตามหรือประชาชนคนธรรมดาตลอดจนนักวิชาการทั้งที่ ริบังอาจไปแตะต้องอำนาจตุลาการก็มักมีอันต้องกระเจิงออกมาอยู่เสมอ แม้ว่าจะเป็นการกระทำอย่างสุจริตใจก็ตาม
ดีไม่ดีเจอข้อหาหมิ่นศาล หรือละเมิดอำนาจเป็นของแถมเสียด้วยซ้ำไปส่วนประเด็นที่ประธานศาลปกครองสูง สุดบอกว่าศาลปกครองมีคณะกรรมการข้าราชการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) คอยดูอยู่แล้วว่า ตุลาการศาลปกครองคนใดทำผิดกฎ ทุจริต หรือรับสินบนหรือไม่ ความจริงแล้ว ก.ศป.มีหน้าที่วินิจฉัยเพียงความผิดทางวินัยเท่านั้น ส่วนความผิดทางอาญาเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.
เพราะไม่เช่นนั้นจะมี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200, 201 และ 202 ว่าด้วยความผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรมไปทำไม ยิ่งหากทางสำนักงานศาลปกครองไม่ส่งคำชี้แจงหรือส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ เรื่องกล่าวหาดังกล่าวไปให้ ป.ป.ช. ป.ป.ช.ก็ยังคงต้องวินิจฉัยต่อไปโดยไม่มีข้อมูลเหล่านั้น
ซึ่งอาจเป็นผลร้ายต่อตัวนายอักขราทรหรือเลขาธิการสำนักงาน ศาลปกครองเอง
จาก บทบัญญัติแห่งกฎหมายของ ป.ป.ช.ที่ยกมาข้างต้นและรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และ 271ที่บัญญัติให้ ป.ป.ช. มีอำนาจตรวจสอบตามมาตรา 270 วรรคสอง (2) ว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ ประกอบกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 197 วรรคสองที่บัญญัติให้ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษา อรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว จะเห็นได้ว่าทั้งความเห็นของทั้งฝ่ายศาลปกครองและ ป.ป.ช.ต่างก็ถูกทั้งคู่
ที่ ว่าถูกทั้งคู่ก็เพราะว่าผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีดุลพินิจอิสระในการ พิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งในกรณีนี้หมายกรณีการออกคำสั่งคุ้มครองหรือยกคำขอคุ้มครองชั่วคราว ป.ป.ช.ย่อมไม่มีสิทธิไปตรวจสอบว่าออกคำสั่งคุ้มครองหรือไม่ ควรหรือไม่ควร เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะเป็นการใช้อำนาจตุลาการโดยแท้
กล่าวโดย สรุป องค์กรตุลาการและบุคลากรในองค์กรย่อมถูกตรวจสอบได้เสมอ จะด้วยกระบวนการขั้นตอนใดนั้นย่อมเป็นไปโดยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หากองค์กรใดหรือบุคคลใดไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ ย่อมกลายเป็นองค์อธิปัตย์อิสระที่อยู่เหนือรัฐหรือแยกออกจากรัฐไป
------------------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 9 มีนาคม 2554 ในชื่อ “อำนาจตุลาการ ไม่สามารถแตะต้องได้จริงหรือ”
Posted by นักข่าวชาวรากหญ้า at 3/09/2011 08:40:00 ก่อนเที่ยง Share on Facebook
http://thaienews.blogspot.com/2011/03/blog-post_1186.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น