คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?
เรื่อง การดำรงอยู่ของสองแนวทาง
โดย กาหลิบ
การ ถกเถียงว่า นปช. แดงทั้งแผ่นดิน หรือ แดงสยาม เป็นแนวทางอันถูกต้องนั้น ความจริงก็ไม่จำเป็น ทั้งสองแนวทางเป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องกันในขบวนประชาธิปไตย เพียงเป็นแนวทางคนละระยะ
เหมือน เราจะเดินทางไปตราด แล้วมานั่งถกเถียงกันว่า เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ ไปชลบุรีหรือเส้นทางจากชลบุรีไปถึงตราด มีความสำคัญมากกว่ากัน ทั้งๆ ที่ต้องใช้เส้นทางทั้งสองระยะรวมกัน
เหตุ ที่ยกตัวอย่างเป็นต่างจังหวัด เพราะถ้าหวนกลับมาใช้สัญลักษณ์บางซื่อ-หัวลำโพงอาจจะยั่วโทสะกันใหญ่โตอีก เรื่องนี้เขายังอ่อนไหวและอารมณ์แปรปรวนกันอยู่
คำถามคือเราจะเป็น “แนวร่วม” กัน ไหมในระยะนี้ เพื่อลดความรู้สึกสับสนและความรู้สึกขัดแย้งของมวลชน ผู้ที่ได้ต่อสู้มาอย่างเหนื่อยยากและเสียสละทุกอย่างมาแล้วหลายปี
เราเสนอว่า ควร แต่ต้องกำหนดวิธีการให้ถูกต้องตามอุดมการณ์ เพราะอุดมการณ์คือเรื่องที่ไม่อาจประนีประนอมได้
ต่อจากนี้ไปคือข้อเสนอให้พิจารณาร่วมกัน
๑. เลิกผูกขาดการต่อสู้ว่า จะต้องนำโดยคนกลุ่มเดียวหรืออยู่ภายใต้คนๆ เดียว แต่ควรส่งเสริมความหลากหลายของมวลชนประชาธิปไตย นั่นหมายความว่า ต้องเลิกใช้วาทกรรมแดงแท้แดงเทียม เลิกวิธีการคว่ำบาตรหรือประกาศขับไล่ใครหรือกลุ่มใดออกจากขบวนการ หาวิธีประสานงานระหว่างกลุ่มต่างๆ ตามเวลาอันเหมาะควร เพื่อรวมพลังกัน
๒. ยุติทัศนะที่ว่า ทุกคน “ตาสว่าง” กันหมดแล้ว หรือทุกคนเขา “รู้” แล้ว ว่าสู้อยู่กับใคร เพียงแต่เขาไม่พูดออกมาเพราะพูดไม่ได้หรือนั่งอำพรางอยู่ การอวดอ้างอย่างนี้ไม่มีประโยชน์ ถึงจะเป็นความจริงแต่ก็ไม่เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ จำเป็นต้องปล่อยให้บางคนวิเคราะห์เชิงชี้นำอย่างโจ่งแจ้งและชัดเจน เพื่อให้เป็นธงสำหรับอนาคต (อันใกล้) อย่างน้อยเป็นวิธีการทางจิตวิทยาที่อาจนำไปสู่การยุติลัทธิปิดปากตัวเองของ คนไทยจำนวนหนึ่งซึ่งนั่งเงียบเฉยอยู่ ทั้งที่รู้เต็มอกว่าปัญหาบ้านเมืองอยู่ที่ใครและอะไร ใครที่กล้าและพร้อม ก็ส่งเสริมให้เขาเดินนำไปก่อน ใครที่กำลังรวบรวมความกล้าและความพร้อมก็ให้ตามมาในภายหลัง อย่างนี้จะเกิดระยะที่ชัดเจนขึ้นในการต่อสู้แบบกระบวนการ
๓. พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย หรืออ้างตัวว่าเป็นเช่นนั้น เช่น พรรคเพื่อไทย เป็นต้น ต้องเสนอนโยบายต่อประชาชนในประเทศในเชิงปฏิวัติด้วย การปฏิวัติที่ว่านี้ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงในมิติลึก นโยบายประชานิยมของรัฐบาลไทยรักไทย-พลังประชาชนทั้ง ๔ รัฐบาล ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการปฏิวัติประเทศ แต่การสานต่อต้องไปให้ไกลและลงให้ลึกกว่านั้น ตัวอย่างของแนวคิดและนโยบายที่ควรนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอย่างสมบูรณ์แบบ การสร้างรัฐสวัสดิการ การปฏิวัติระบบภาษีอากร เป็นต้นด้วย ถ้าทำเช่นนี้ได้ อำนาจรัฐที่หวังกันว่าจะได้รับจากกระบวนการเลือกตั้งก็จะสอดประสานกันได้กับ แนวทางปฏิวัติ แต่หากไม่ทำเช่นนี้ การแยกกลุ่มพลังที่มีแนวคิดปฏิวัติก็เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะเราไม่อาจยอมให้ขบวนปฏิวัติประชาธิปไตยต้องล้มเหลวลงเพราะการก้าวเดิน ที่ผิดพลาดทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า
๔. สร้างยุทธศาสตร์ “ส่งไม้” ระหว่างแนวทางปฏิรูปกับแนวทางปฏิวัติ ที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม
๕. ในการรวมพลังมวลชนระหว่างการปรับตัว ขอให้ทำอย่างที่แดงสยามทำมาตลอดต่อไป นั่นคือเรียกร้องให้มวลชนเข้าร่วมกิจกรรมของฝ่ายประชาธิปไตยทุกๆ กลุ่มอย่างต่อเนื่อง ไม่ปฏิเสธที่จะร่วมกับกลุ่มใดเพื่อรักษาอำนาจต่อรองในภาพรวมสำหรับขบวน ประชาธิปไตยไว้ โดยเก็บความในใจและอุดมการณ์อันก้าวหน้าไว้แสดงในโอกาสในอันเหมาะสม
สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเสนอที่เราเชื่อว่าเป็นไปได้และควรเป็น
เวลา ของประชาชนใกล้จะมาถึงแล้ว เราต้องช่วยกันปรับตัว ปรับใจ และปรับความคิดอย่างทันการณ์เพื่อยกระดับประเทศไทยไปสู่ความเป็นรัฐของ ประชาชนโดยแท้.
http://www.democracy100percent.blogspot.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น