Wed, 2011-03-09 19:21
สุรพศ ทวีศักดิ์
เรื่องเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องสมมติ แต่ผมคิดว่าอาจตรงกับเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ก็ได้
ครู สอนวิชาพุทธศาสนาคนหนึ่ง เธอเลี้ยงลูกสาวเพียงลำพังเนื่องจากสามีเธอเสียชีวิตไปนานแล้ว แม้เธอจะศึกษาคำสอนของพุทธศาสนามาพอสมควร แต่เมื่อชะตาชีวิตต้องเผชิญกับความทุกข์อย่างแสนสาหัส เธอกลับพบว่าพุทธศาสนาไม่ได้ช่วยอะไรได้มากอย่างที่คิด
ความ ทุกข์แสนสาหัสที่เธอประสบคือ ลูกสาวที่กำลังเรียนมัธยมปลายของเธอถูกคนงานกะเหรี่ยงขี้เมาข่มขืนและตั้ง ครรภ์ หมอแนะนำว่ายังอยู่ในระยะที่สามารถทำแท้งได้ และในกรณีที่ตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืน กฎหมายก็อนุญาตให้ทำแท้งได้ แต่เธอและลูกบอกหมอว่าขอเวลาคิดดูก่อน
ใน ห้วงเวลาแห่งความทุกข์ของสองแม่ลูก เธอต้องการคำอธิบายทางศีลธรรมเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับปัญหา นี้ต่อไป จึงไปขอคำปรึกษาจากพระที่เธอเคยเห็นท่านเทศน์ออกทีวีบ่อยๆ แต่คำตอบที่ได้รับคือ...
“...การ ทำแท้งเป็นบาปแน่นอน จะว่าไปแล้วมันเป็นผลกรรมเก่า ลูกสาวโยมอาจจะไปทำกรรมอะไรไว้ในชาติก่อน ชาตินี้จึงทำให้ถูกข่มขืน ถ้าเราไปทำแท้งอาจทำให้ต้องจองเวรจองกรรมไม่สิ้นสุด แต่ถ้ายอมรับถือว่าใช้กรรมเก่าไป ไม่ทำแท้ง ไม่ทำบาปใหม่อีก กรรมนี้ก็จะสิ้นสุด ...พอดีอาตมามีงานยุ่ง ต้องขอตัวก่อน หากโยมยังไม่เข้าใจ ให้ซื้อซีดีที่อาตมาเทศน์ออกทีวีไปเปิดฟังก็ได้ อาตมาอธิบายไว้ละเอียดแล้ว จะได้เข้าใจจนหมดสงสัย”
เธอ กราบลาหลวงพ่อด้วยความรู้สึกผิดหวัง ไม่ได้ซื้อซีดี และรู้สึกตำหนิตัวเองที่ตัดสินใจมาหาพระรูปนี้ ระหว่างนั้นเธอนึกถึงครูสอนวิชาพุทธศาสนาที่โรงเรียนเดียวกันคนหนึ่งอดีตเคย บวชเรียนมา เธอจึงชวนเขามาทานข้าวเย็นที่บ้าน และเล่าเรื่องดังกล่าวให้ฟัง คำแรกที่อดีตมหาเปรียญพูดขึ้น คือ
“พี่ ไม่น่าไปหาพระรูปนั้นเลย...ปัญหานี้มันเป็นความทุกข์ร่วมกันของพี่กับลูกสาว พี่กับลูกสาวต้องตัดสินใจเอง แต่ต้องเอาความเชื่อทางศีลธรรมที่พระรูปนั้นสอนออกไปจากจิตใจก่อน”
“ตามหลักศีลธรรมของพุทธศาสนา การทำแท้งเป็นปาณาติบาตมิใช่หรือ มันเป็นบาปมิใช่หรือ” เธอถามเสียงดัง!
“ใช่ ครับ พระสอนอย่างนั้น คัมภีร์ทางศาสนาสอนอย่างนั้น แต่เรามีสิทธิ์ที่จะเชื่อหรือไม่ก็ได้มิใช่หรือ...ที่จริงศาสนามาทีหลัง มนุษย์ ในยุคที่ยังไม่มีศาสนานามนุษย์ก็ยังดำรงชีวิตอยู่ได้ แม้ปัจจุบันบางคนเขาไม่นับถือศาสนาอะไรเขาก็มีชีวิตที่ดีงามได้ ศาสนาเกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาบางอย่างของมนุษย์ ศาสนาไม่ใช่เครื่องมือแก้ปัญหาทุกอย่าง หรือมีคำตอบสำเร็จรูปให้กับทุมิติของชีวิตเรา”
ท่านมหาเล่าต่อว่า
“...ผม คิดว่าศีลธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่ใช่กฎระเบียบแข็งทื่อสำหรับนำมากล่าวอ้างเพื่อตัดสินการกระทำ หรือข่มขู่ป้องปรามให้คนกลัวหรือรู้สึกผิดที่จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ศีลธรรมของพุทธศาสนาต้องอธิบายได้ด้วยเหตุผล
ปาณาติบาต ที่เป็นบาป ต้องเป็นการฆ่าจากความโกรธ ความเกลียดชัง ความลุ่มหลง หรือความมัวเมาในอำนาจ เช่น สั่งฆ่าประชาชนที่เรียกร้องเสรีภาพ เป็นต้น
แต่ ในบางกรณี เช่น ม้าขาหักในทะเลทรายไม่สามารถเดินต่อไปได้ มันดิ้นทุรนทุรายเจ็บปวดด้วยความทุกข์ทรมาน เจ้าของม้าตัดสินใจยิงม้าตายด้วยความสงสาร มันย่อมไม่ใช่การทำบาปที่ร้ายแรง เหมือนปาณาติบาตที่ฆ่าประชาชนเพราะหลงอำนาจ…
โดย ความเป็นมนุษย์เราทุกคนย่อมรักตัวเองและปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีที่สุดเท่า ที่จะเป็นไปได้ หากลูกสาวพี่ตัดสินใจทำแท้ง พี่และลูกสาวอาจเจ็บปวดเพราะรู้สึกผิดในทางศีลธรรมตามที่ถูกปลูกฝังมา แต่พี่ลองคิดดูพุทธศาสนาสอนให้เรามองความจริงของชีวิตคือความทุกข์ และให้เราจัดการกับความทุกข์ในชีวิตเราอย่างเหมาะสม
เวลานี้พี่กับลูกสาวประสบทุกข์ในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้น มันยุติธรรมแล้วหรือหากเราต้องยอมจำนนต่อความทุกข์โดยข้ออ้างเรื่อง “กรรมเก่า” ที่ไม่มีใครพิสูจน์ได้ แม้แต่พระที่สอนท่านจะเชื่อตามที่ตัวเองสอนจริงๆ หรือเปล่ายังไม่รู้เลย ลูกสาวของพี่ยังต้องเรียนหนังสือ มีการศึกษา มีงานทำ เธอยังมีโอกาสจะพบผู้ชายดีๆ มีครอบครัวที่อบอุ่น มีลูกที่น่ารัก มีชีวิตที่ปกติสุขเช่นเดียวกับคนอื่นๆ
แต่ หากไม่ยอมทำแท้ง เพียงเพราะเหตุผลว่าสมควรชดใช้กรรมเก่า ยอมแบกความทุกข์ที่ตนเองไม่ได้ก่อขึ้นเอาไว้ตลอดชีวิต ผมก็ไม่แน่ใจว่านี่เป็นวิธีการจัดการกับความทุกข์อย่างเหมาะสมตามคำสอนที่ แท้จริงของพระพุทธเจ้าหรือไม่
มี หลายเรื่องครับที่ผมเองก็อดสงสัยไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมพุทธ บ้านเรา เช่น มติมหาเถรสมาคม (มส.) ห้ามนักเรียนมุสลิมคลุมญิฮาบเข้าไปในโรงเรียนวัด ห้ามตัดคำว่า “วัด” ออกจากชื่อโรงเรียน หรือมีชาวพุทธมาเรียกร้องรัฐบาลห้ามออกกฎหมายอนุญาตทำแท้ง ห้ามมีหวยถูกกฎหมาย ฯลฯ เพราะอ้างว่าผิดศีลธรรมทางพุทธศาสนา
ผม คิดว่า ถ้าบังเอิญพระพุทธเจ้ามาพบปรากฏการณ์ดังกล่าว พระองค์คงไม่เห็นด้วย พระพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่แคว้นโกศลกว่า 20 พรรษา สนิทสนมกับพระเจ้าปเสนทิโกศลมาก แต่พระองค์ไม่เคยเสนอให้บัญญัติไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า “ผู้ที่เป็นกษัตริย์จะต้องเป็นพุทธมามกะ”
พระพุทธเจ้าไม่ต้องการเสนอ “ศีลธรรมบังคับ” แต่เป็น “ศีลธรรมเหตุผล” ชี้เหตุชี้ผลให้คนฟังเข้าใจ แล้วแต่เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อ “ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทาง ส่วนเรื่องเดินทางเป็นอิสระของแต่ละบุคคล”
ผม คิดว่าศีลธรรมแบบให้ยอมจำนนต่อความทุกข์อย่างไร้เหตุผล เช่นข้ออ้างเรื่องกรรมเก่า หรือการอ้างศีลธรรมทางพุทธศาสนาเพื่อกดดันหรือบีบบังคับให้ออกหรือไม่ออก กฎหมายให้ประชาชนปฏิบัติ ไม่น่าจะตรงกับเจตนาในการสอนศีลธรรมของพระพุทธเจ้า
หลัก กาลามสูตรนั่นไงครับ คือหลักที่สอนให้เรามีอิสระอย่างเต็มที่ในการตัดสินถูกผิดด้วยตนเอง ยิ่งเมื่อพิจารณาตามหลักอริยสัจ 4 ยิ่งชัดว่า ตัวเราแต่ละคนคือผู้ที่จะเข้าใจความทุกข์ของตนเองได้ดีที่สุด และสามารถจัดการกับความทุกข์นั้นได้ด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุด
ผม คิดว่า พี่กับลูกสาวควรนึกถึงตนเองในฐานะที่เป็นมนุษย์ผู้ปรารถนาการมีชีวิตที่ดี ให้มากที่สุด นึกถึงความทุกข์ของตนเองเป็นตัวตั้ง หาทางแก้ทุกข์นั้นด้วยวิถีทางที่...คือหากมันหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดไม่ได้ เราย่อมมีความชอบธรรมที่จะเลือกวิถีทางที่มันเกิดความเจ็บปวดกับตนเองและคนอื่นให้น้อยที่สุด...”
ผมขอจบเรื่องเล่าห้วนๆ แบบนี้แหละ สวัสดีสังคมพุทธไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข!
หมายเหตุ : ผมได้แง่คิดในการเขียนเรื่องเล่านี้จากการอ่านเรื่องสั้นขนาดยาวของ ศ.ดร.สมภาร พรมทา ใน “วารสารปัญญา” วารสารออนไลน์ที่ให้ดาวโหลดฟรีทั้งบทความวิชาการ เรื่องสั้น นวนิยาย และหนังสือปรัชญา/พุทธศาสนา ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ผู้สนใจโปรดเข้าไปอ่านได้ที่
http://www.stc.arts.chula.ac.th/WisdomMag/index.html
http://www.prachatai.com/journal/2011/03/33462
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น