Sat, 2011-03-05 00:39
อนุสรณ์ อุณโณ
ผมไม่รู้ว่าจะรู้สึกกับข้อเสนอเรื่องการทำ “แผนที่มนุษย์” ของนายแพทย์ประเวศ วะสี อย่างไรดี เพราะในด้านหนึ่งข้อเสนอนี้ไม่ประสีประสา ไม่เข้าใจว่าโลกแห่งความเป็นจริงสลับซับซ้อนเกินกว่าข้อเสนอดังกล่าวจะเป็น จริงได้ ขณะที่อีกด้านข้อเสนอดังกล่าววางอยู่บนความปรารถนาเดียวกับความต้องการจะควบ คุมชีวิตผู้คนในระดับแยกย่อย ซึ่งหากนายอภิสิทธิ์รับลูกขึ้นมาก็น่าเป็นห่วง
นายแพทย์ประเวศเสนอผ่านทางนายอภิสิทธิ์ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศ ไทย ที่มีจำนวนกว่า 100 แห่งไปเก็บข้อมูลในหมู่บ้านทั่วประเทศประมาณ 80,000 หมู่บ้าน ว่า “ชาวบ้าน” มีความรู้ความเชี่ยวชาญอะไรบ้าง รวมทั้งมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ซึ่งจะเป็นผลดีไม่เฉพาะกับตัวชาวบ้าน หากแต่ยังรวมถึงตัวนักศึกษาและประเทศไทยโดยรวม กล่าวในส่วนชาวบ้าน นายแพทย์ประเวศกล่าวว่าระบบการศึกษาไทยทำให้ชาวบ้านรู้สึกด้อยค่า ไร้เกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี ความรู้และทักษะที่พวกเขาสั่งสมมาจากชีวิตจริงไม่ว่าจะเป็นการปรุงอาหาร การก่อสร้าง หรือการเล่นดนตรี เทียบไม่ได้กับความรู้ในตำรา ฉะนั้น การที่มีผู้มีความรู้อย่างนักศึกษามาถามไถ่และบันทึกความรู้ที่สั่งสมอยู่ใน ตัวพวกเขา ก็จะทำให้พวกเขารู้สึกได้รับเกียรติ เกิดความภูมิใจในความรู้ความชำนาญของตนและคิดอยากจะทำสิ่งดีๆ เพิ่มขึ้น ขณะที่ในส่วนของนักศึกษา การได้มีโอกาสถามไถ่ความรู้จากชาวบ้าน นอกจากจะช่วยให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งที่หาไม่ได้ในตำรา ยังเกิดการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อชาวบ้านว่าแท้จริงแล้วชาวบ้านมีคุณค่าและ ศักดิ์ศรี เกิดจิตสำนึกใหม่ที่ให้ความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่วนในระดับประเทศนั้น นายแพทย์ประเวศกล่าวว่าการทำแผนที่มนุษย์จะช่วยให้คนไทยทุกคนมีความภูมิใจใน ตนเองและเป็นแหล่งเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม ปลูกฝังศีลธรรม และปฏิรูประบบการศึกษา อันจะนำไปสู่การ “อภิวัฒน์” ประเทศไทยในทุกด้าน
แต่ข้อเสนอดังกล่าวมืดบอดต่อความเป็นจริงในหลายด้าน เช่น ในโลกแห่งความเป็นจริงเส้นแบ่งระหว่างความรู้ที่สั่งสมจากประสบการณ์กับความ รู้ในตำราไม่ได้มีความชัดเจนหรือเบ็ดเสร็จเด็ดขาดดังที่นายแพทย์ประเวศวาด เพราะปัจจุบันแทบไม่มีคนไทยคนใดที่ไม่ผ่านระบบการศึกษา และแทบไม่มีคนในเมืองไทยคนไหนที่ไม่แสวงหาความรู้เพิ่มเติมในการทำมาหากิน ไม่ว่าจะจากสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้กระทั่งอินเตอร์เน็ต ความรู้ติดตัวจึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างประสบการณ์จริงกับความรู้จากแหล่ง ต่างๆ ดังกล่าว และในทางกลับกัน ความรู้ที่บรรจุในตำราก็ไม่ได้มาจากสุญญากาศ แต่มาจากการศึกษาค้นคว้าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือจากประสบการณ์ของผู้คน การเข้าใจความรู้ที่ติดตัวผู้คนด้วยตรรกะขาวดำจึงบั่นทอนน้ำหนักหรือความ เป็นไปได้ของข้อเสนอดังกล่าวตั้งแต่ต้น (ทั้งนี้ยังไม่นับรวมลักษณะขัดกันเองของข้อเสนอที่ดูเหมือนจะต้องการชูความ รู้เชิงประสบการณ์ของชาวบ้าน แต่กลับเต็มไปด้วยศัพท์แสงที่ต้องมีภาษาอังกฤษกำกับในวงเล็บโดยไม่จำเป็น เช่น พลังมหาศาล (enormous energy) ความเห็นอกเห็นใจกัน (empathy))
ขณะเดียวกัน “ชาวบ้าน” ก็ไม่ได้เป็น “คนไม่มีความรู้สมัยใหม่” หรือว่า “ได้แต่ฟังคนอื่นที่มีอำนาจมากกว่า มีความรู้มากกว่า มีเงินมากกว่า” อย่างที่นายแพทย์ประเวศว่า (ซึ่งอันที่จริงการพูดเช่นนี้คือการดูถูกชาวบ้านในลักษณะหนึ่ง) เพราะนอกจากระบบการศึกษา ชาวบ้านเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ในหลายลักษณะ ทั้งจากประสบการณ์ตรงและที่ผ่านทางสื่อต่างๆ คนอีสานซึ่งมักถูกวาดภาพให้เป็นแบบฉบับของชาวบ้านถือหนังสือเดินทางในสัด ส่วนสูงกว่าคนกรุงเทพฯ ที่มักเรียกกันว่าชาวเมืองเสียด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ปัจจุบันแทบไม่มีชาวบ้านคนใดนิ่งเงียบต่อเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อได้รับความไม่ เป็นธรรม หรือไม่เถียงนักวิชาการหากไม่เห็นด้วย ดังสามารถพบเห็นได้ในการคัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐโดยทั่วไป ขณะที่ “นายทุน” ก็ตกเป็นเป้าของการประณามทั้งในที่ลับและที่แจ้งโดยชาวบ้านมาเป็นเวลานาน แล้ว ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชาวบ้านกับฝ่ายที่ดูเหนือกว่าไม่ว่าจะเป็นใน เชิงตำแหน่งหน้าที่ ความรู้ หรือฐานะทางเศรษฐกิจ ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จึงเป็นตลกร้ายที่นายแพทย์ประเวศชวนให้เชื่อว่าชาวบ้านยังก้าวไม่ทันโลกภาย นอกและสยบยอมต่อผู้ที่เหนือกว่าอย่างหมอบราบคาบแก้ว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าเป็นห่วงของข้อเสนอนายแพทย์ประเวศไม่ได้อยู่ที่ความมืดบอดต่อความ เป็นจริงทางสังคมในลักษณะดังกล่าว เท่าๆ กับอยู่ที่ความปรารถนาที่อยู่เบื้องหลังข้อเสนอที่ว่านี้ นายแพทย์ประเวศกล่าวว่าหากสามารถจัดทำฐานข้อมูลความรู้ในตัวคนไทยทั้งประเทศ ในรูปของระบบดิจิตอลจะเป็นประโยชน์มหาศาลเพราะจะได้รู้ว่าใครมีความรู้ความ เชี่ยวชาญเรื่องใดอาศัยอยู่ที่ไหน จะได้ไปหาถูกเมื่อต้องการจะรู้เรื่องใด แต่ปัญหาก็คือว่านี่คือความปรารถนาที่จะรู้คุณสมบัติของบุคคลในทำนองเดียว กับความต้องการที่จะรู้คุณสมบัติของแต่ละคนเพื่อการควบคุมตรวจตราในระดับแยก ย่อย ความปรารถนาและความต้องการเช่นนี้มักอาศัยสวัสดิภาพและความปลอดภัยของบุคคล เป็นเหตุผลนำ แต่ซ่อนวัตถุประสงค์ข้อเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐรวมทั้งองค์กรและสถาบัน เอาไว้เบื้องหลัง เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ และส่วนอื่นๆ ของร่างกายซึ่งเป็นไปเพื่อการรักษาหรือว่าป้องกันโรคของผู้ป่วยและคนปกติ สามารถถูกนำไปใช้ในการจำแนกและควบคุมผู้คนไม่ให้เป็นภัยคุกคามต่อรัฐรวมทั้ง สังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการจับตาผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นอาชญากร หรือว่าการกักตัวผู้คนหรือปิดล้อมชุมชนในภาวะเกิดโรคระบาด นายแพทย์ประเวศกล่าวเฉพาะการแบ่งปันประโยชน์จากข้อมูลร่วมกันในหมู่ประชาชน แต่ไม่กล่าวถึงรัฐซึ่งเป็นผู้ควบคุมตรวจตราอยู่ข้างหลัง คำถามก็คือว่าจะมีหลักประกันอะไรที่ข้อมูลดังกล่าวจะไม่ถูกนำไปใช้ในลักษณะ ที่ย้อนกลับมาเป็นภัยต่อบุคคลผู้เป็นเจ้าของโดยเฉพาะในกรณีที่ผลประโยชน์ของ บุคคลและรัฐขัดกันไม่ว่าจะเป็นในทางเศรษฐกิจหรือการเมือง (ทั้งนี้ยังมิพักต้องเอ่ยถึงการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจที่มักไปกันไม่ได้กับ การเปิดเผยสูตรเด็ดหรือกลเม็ดเคล็ดลับต่างๆ ให้บุคคลทั่วไปโดยเฉพาะคู่แข่งได้รู้ ซึ่งจะส่งผลให้โครงการแผนที่มนุษย์พับตั้งแต่ต้น)
กล่าว อีกนัยหนึ่ง ข้อเสนอเรื่อง “แผนที่มนุษย์” ของนายแพทย์ประเวศเป็นตัวอย่างของความปรารถนาที่จะปกครองของอำนาจสมัยใหม่ ที่อยู่ในรูปของความรู้ รวมทั้งเป็นกลวิธีทางการเมืองร่วมสมัยที่ทำให้รัฐกับการปกครองเป็นคนละ เรื่องกัน โดยอาศัยความกินดีอยู่ดีของประชากรเป็นฉากหน้า ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าผู้ที่อยู่ใต้การปกครองจะมีความตระหนักรู้หรือว่าเท่าทัน ปฏิบัติการอำนาจที่แฝงมาและหาทางเจรจาต่อรองด้วยได้หรือไม่เพียงใด เพราะแม้อำนาจในลักษณะนี้จะดูก้าวหน้ากว่าอำนาจดิบหยาบจำพวกปากกระบอกปืนและ กฎหมายล้าหลัง แต่ก็ยังปฏิบัติการอยู่บนความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอกันระหว่างร่างทรงของอำนาจ กับเป้าหมายของการควบคุมอยู่ดี
(บทความตีพิมพ์ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน คอลัมน์ คิดอย่างคน ประจำวันที่ 25 ก.พ.- 3 มี.ค. 2554)
http://www.prachatai.com/journal/2011/03/33390
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น