Thu, 2011-09-08 17:26
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการอภิปรายหัวข้อ เวที “ประสบการณ์ประชาธิปไตยของชาวบ้านเชียงใหม่” โดยมีการนำเสนอบทความจากงานวิจัย “พัฒนาการจิตสำนึกและขบวนการทางการเมืองของชาวเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่” โดยคณะผู้วิจัยซึ่งเป็นอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษย วิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, ดร.อรัญญา ศิริผล, นพพล อาชามาส และสืบสกุล กิจนุกร
และผู้วิจารณ์ ประกอบด้วย ศ.ทามาดะ โยชิฟูมิ มหาวิทยาลัยเกียวโต, รศ.ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ
โดยผู้อภิปรายคนแรกคือ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอว่าขบวนการคนเสื้อแดง มีลักษณะที่ต่างไปจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมก่อนหน้านี้ทั้ง สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (กทส.) และสมัชชาคนจน ในแง่ที่คนเสื้อแดงมีลักษณะของสมาชิกในขบวนการที่ “ข้ามชนชั้น” มีอัตลักษณ์ร่วมกันคือ “ความเป็นแดง/ความเป็นไพร่”
ปิ่นแก้วอภิปรายด้วยว่า การอธิบายการรวมตัวของคนเสื้อแดงแบบสำนักคิดเศรษฐกิจกำหนด จะไม่ช่วยให้เข้าใจว่า ความคิดทางการเมืองของชาวบ้านเปลี่ยนไปอย่างไร ขณะที่อุดมการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดง ก็มีการเปลี่ยนผ่าน คือไม่ได้เริ่มจากฐานความคิด หรือความเชื่อเดียวกัน ในตอนแรกอาจเสนอให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่อุดมการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงก็เปลี่ยนผ่าน หรือในศัพท์ที่คนเสื้อแดงใช้ว่า “ตาสว่าง” ก็เกิดหลายระลอก โดยการอภิปรายของปิ่นแก้ว มีรายละเอียดดังต่อนี้ ส่วนเนื้อหาจากการประชุมทั้งหมด “ประชาไท” จะทยอยนำเสนอต่อไป
(หมายเหตุ: 1. ถอดเทปและขัดเกลาเพิ่มเติมจาก รายงานที่ตีพิมพ์โดยสำนักข่าวประชาธรรม วันที่ 5 ก.ย. 54
2. ข้อความในวงเล็บ เป็นการอธิบายเพิ่มเติมโดยประชาไท)
2011.09.01 Pinkaew Luangaramsri's talk @ CMU [1/2]
http://www.youtube.com/watch?v=tZPcvm7vSZE&list=PL7B4533A3958D4565&feature=player_embedded
2011.09.01 Pinkaew Luangaramsri's talk @ CMU [2/2]
http://www.youtube.com/watch?v=E2-fQlhj0ps&feature=related
วิดีโอคลิปการอภิปรายของปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เมื่อ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ในการประชุม "ประสบการณ์ประชาธิปไตยของชาวบ้านเชียงใหม่" ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มีทั้งหมด 2 ตอน)
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
"งาน วิจัยยังพบอีกว่า สิ่งที่เรียกว่า อุดมการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงนั้น มีการเปลี่ยนผ่าน คือมันไม่ได้เริ่มจากฐานความคิด หรือความเชื่อเดียวกันในตอนแรก
ใน ตอนแรกเขาอาจจะคิดง่ายๆ ว่า เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่อุดมการณ์ทางการเมืองมันเปลี่ยนผ่านอย่างน้อย 2 ระลอก คือก่อนและหลังเดือนพฤษภาคม (2553) จริงๆ เปลี่ยนผ่านหลายระลอก ในศัพท์ที่คนเสื้อแดงเรียกว่า “ตาสว่าง” เกิดหลายระลอก แต่ว่าจุดที่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่มีผลอย่างยิ่งต่อวิธีคิดของคน เสื้อแดงในการมองความสัมพันธ์ของตนเอง กับสถาบันต่างๆ ในสังคมไทย รวมทั้งสถาบันสูงสุด ดิฉันคิดว่าเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 เป็นเงื่อนไขที่สำคัญ"
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 1 ก.ย. 54
000
ขบวนการเสื้อแดงเป็นขบวนการที่น่าสนใจ ในแง่หนึ่งสมาชิกมีแหล่งกำเนิดมาจากชนบท แต่ว่าขบวนการเสื้อแดงกลับไม่ได้เกาะเกี่ยวกันด้วยความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ของชนชั้นชาวนา เหมือนกับสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาแห่งประเทศไทย (กทส.) เมื่อทศวรรษ 2510 ขณะเดียวกันขบวนการนี้ก็ต่างไปจากขบวนการสมัชชาคนจนหรือขบวนการ วิถีชีวิต อำมาตย์
นักวิชาการที่เขียนเรื่องขบวนการเสื้อแดง ส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องต้องกันว่าขบวนการเสื้อแดงมีความสลับซับซ้อนและประกอบไป ด้วยกลุ่มคนหลายสถานะ หลากความคิดทางการเมือง ยากที่จะกำหนดด้วยเส้นแบ่งทางเศรษฐกิจ หรือกระทั่งความต่างระหว่างเมืองและชนบท
อาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) รวมทั้งอาจารย์อรรถจักร (สัตยานุรักษ์) ที่นั่งอยู่ในที่นี้ เสนอเรื่องแนวคิดชนชั้นกลางระดับล่างในเมืองและชนบท อ.ผาสุก (พงษ์ไพจิตร) และ อ.ไชยรัตน์ (เจริญสินโอฬาร) ก็เรียกขบวนการนี้ว่าเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วย/หรือผสมกันระหว่างกลุ่มที่คัดค้านรัฐประหารกับมวลชนผู้สนับสนุนทักษิณ
อ.เกษียร (เตชะพีระ) ก็มองว่าขบวนการนี้เป็นแนวร่วมระหว่างชนชั้นรากหญ้าและชนชั้นนายทุนใหญ่ อ.คายส์ (ชาร์ลล์ เอฟ คายส์ - Charles F. Keyes) ก็เรียกชาวชนบทที่เข้าร่วมขบวนการนี้ว่าเป็น "กลุ่มคนชนบทผู้เห็นโลกกว้าง" (Cosmopolitan villagers)
อ.พัฒนา (กิติอาษา) ก็เรียกคนเหล่านี้ว่าเป็นผู้ประกอบการทางการเมือง
คือมีผู้พยายามตอบคำถามว่าขบวนการนี้เป็นอะไรกันแน่ งานของเราก็พยายามทำอะไรแบบนั้นเหมือนกัน
เรามีคำถามหลักอยู่ 3 คำถามใหญ่ คือ หนึ่ง ขบวนการเสื้อแดงในเชียงใหม่ ประกอบไปด้วยกลุ่มคนสถานะใด ก่อรูปขึ้นเป็นขบวนการเสื้อแดงได้อย่างไร และมีพัฒนาการเช่นไร ที่เลือกศึกษาเสื้อแดงในเชียงใหม่เพราะว่าเชียงใหม่เป็นหนึ่งในเมืองหลวงของ เสื้อแดง มีประชากรเสื้อแดงเยอะที่สุด
สอง เงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองอะไรที่มีอิทธิพลต่อการก่อรูปของจิตสำนึกทางการเมืองของชาวบ้านหรือคนที่เข้าร่วมขบวนการนี้
สาม ขบวนการนี้ก็มีความแตกต่างไปจากขบวนการก่อนหน้านี้ ถ้าเทียบกับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ หรือสมัชชาคนจน เพราะเป็นขบวนการที่มีสื่อเป็นของตัวเอง การที่ขบวนการนี้มีสื่อเป็นของตัวเองแทนที่จะอิงกับสื่อของรัฐ สื่อของทุน ทำให้ขบวนการนี้ต่างไปจากขบวนการอื่นอย่างไร
ก่อนเริ่มอยากจะพูดถึง ความคิดกระแสหลักเกี่ยวกับคนเสื้อแดงสามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มความคิดหลัก
ความคิดแรก มองว่าเป็นเสื้อแดงเป็นชนชาวรากหญ้าที่ไม่ค่อยมีการ ศึกษานัก เป็นชาวชนบทที่จงรักภักดีต่อทักษิณ และถูกลากเข้าสู่การเมืองของชนชั้นนำ การเมืองของพวกคณาธิปไตยทั้งหลาย แน่นอนทัศนะนี้สะท้อนความคิดของผู้ปกครอง หรือว่าชนชั้นกลาง นักวิชาการบางท่านก็มองเช่นนี้เหมือนกัน คือมองว่าผู้นำตีกันแล้วลากชาวบ้านเข้ามายุ่งทางการเมือง
กลุ่มความคิดอันที่สอง มองจากฐานความคิดเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ก็คือมองว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นชนชั้นกลางระดับล่างในชนบท ที่ชีวิตทางเศรษฐกิจนั้น “ปริ่ม น้ำ” นโยบายไทยรักไทยได้ช่วยให้คนเหล่านี้พ้นจากอาการปริ่มน้ำหรือความเสี่ยงขึ้น มาได้ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับพวกเขา เมื่อมีรัฐประหาร มันได้ทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจอันนี้ พวกเขาจึงรวมตัวกันทวงสิทธิให้กับพรรคการเมืองของตนเองที่ได้เลือกขึ้นมา
ดิฉันคิดว่า ความคิดทั้งสองอันไม่ผิด แต่มันไม่พอ ความคิดที่ว่าผู้นำตีกันข้างบน แล้วลากชาวบ้านเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดิฉันก็ไม่มีความเห็นเพราะเป็นวิธีอธิบายความขัดแย้งในสังคมไทยที่มันดำเนิน มาตลอดช่วงสมัยอยู่แล้ว พูดง่ายๆ คือมองว่าประชาชนไม่มีสมองหรือปัญญาของตัวเองในการวิเคราะห์การเมือง สามารถที่จะถูกลากมาประหนึ่งว่าเป็นวัวหรือเป็นหญ้า หรืออะไรทำนองนั้น ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปโต้เถียงทางวิชาการ
ความคิดที่สองอาจจะเป็นหลักคิดที่น่าสนใจกว่า คือ การมองว่าการวมตัวของกลุ่มคนรากหญ้าเหล่านี้ แรงผลักสำคัญเป็นแรงขับทางด้านเศรษฐกิจ โดยส่วนตัวของดิฉันเคยเถียงกับนักวิชาการหลายท่านที่เคยมาวิจารณ์วิจัยนี้ ที่ไม่ได้เล่าให้ฟังคือโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการใหญ่ ของโครงการวิจัยที่ชื่อว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองใน ชนบท” ที่มีอาจารย์อภิชาติ สถิตนิรมัย และอาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตรเป็นหัวหน้าโครงการ มีหลายท่านร่วมอยู่ในโครงการย่อยนี้ เราก็ยังเถียงอยู่ตลอดเวลา อาจารย์อภิชาติเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ทฤษฎี “ปริ่มน้ำ” ก็มาจากอาจารย์อภิชาติ ดิฉันเองไม่ค่อยเห็นด้วย ในเรื่องเอาเศรษฐกิจมากำหนด เพราะคิดว่าไม่พอ การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางชนบททั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงทศวรรษ ที่ผ่านมา
พูดง่ายๆ คือ การอธิบายแบบใช้เศรษฐกิจกำหนดนั้น ไม่ช่วยให้เข้าใจว่า ความคิดทางการเมืองของชาวบ้านเปลี่ยนไปอย่างไร และเพราะอะไร
งานวิจัยชิ้นนี้จึงพยายามที่จะกลับหัวกลับหางในการวิจัย คือว่าแทนที่จะมองการเมืองจากด้านบนลงมา เราพยายามทำความเข้าใจความขัดแย้งทางการเมืองจากฐานคิดของรากหญ้า คือชาวบ้านที่เข้าร่วมขบวนการนี้เขาคิดอย่างไร และขบวนการนี้ต่างไปจากขบวนการทางสังคมอื่นในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้อย่าง ไรบ้าง
ข้อค้นพบเบื้องต้นเราพบว่า จริงๆ แล้ว ก็จริงที่ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งนี่ก็เป็นค้นพบของงาน ในโครงการวิจัยอันหนึ่งของอาจารย์เวียงรัฐ (เนติโพธิ์) ในโครงการใหญ่ คือการมองว่า การเปลี่ยนแปลงของ “Electoral politics” หรือการเมืองในระบอบเลือกตั้ง มีผลอย่างยิ่งต่อจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชนในชนบท
พูดง่ายๆ ในกลุ่มที่เราศึกษา ชาวบ้านที่เราศึกษา แทบจะทุกหมู่บ้านที่เราไป ในยุคก่อนไทยรักไทย ชาวบ้านไม่เคยคิดว่าการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต “4 ปี ก็มาที” แล้วไม่คิดว่าการเลือกตั้งคือปริมณฑลทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งเป็น ปริมณฑลของคนกรุงเทพ ไม่เคยคิดว่าปริมณฑลของการเลือกตั้งจะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในชนบท
รัฐบาลไทยรักไทยสองสมัยได้เปลี่ยนความคิดอันนี้ แล้วก็ช่วยทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงในการเมืองในระบอบเลือกตั้งนั้นมีผลโดยตรงกับสถานะทาง เศรษฐกิจของชาวบ้านเอง พูดง่ายๆ คือ นโยบายทางการเมืองมีผลกับภาวะเศรษฐกิจของชาวบ้าน
อันนี้แหละ เป็นตัวทำให้ชาวบ้านมองว่าสิทธิทางการเมืองจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในภาคชนบท การเชื่อมโยงของสองอันนี้มันทำให้จิตสำนึกทางการเมืองของชาวบ้านในชนบทใน ปัจจุบันไม่ต่างไปจากสำนึกทางการเมืองของปัญญาชนหรือชนชั้นกลางทั่วไป
แต่ก่อนเรามองว่าชาวบ้านนั้นไม่เข้าใจการเมืองในระบอบเลือกตั้ง ไม่เข้าใจหรือมองการเมืองในระบอบการเลือกตั้ง หรือมองในเรื่องการเมืองในระบอบเลือกตั้งห่างไกลจากชนบท ประวัติศาสตร์ในยุคก่อนก็อาจจะใช่ แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาวิธีการในการอธิบายแบบนี้นั้น เราพบว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง มันอธิบายไม่ได้หรือตอบไม่ได้อีกต่อไป
เรามองขบวนการเสื้อแดงเฉพาะในเชียงใหม่จังหวัดเดียวเราพบว่า มันไม่จริงที่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจเป็นตัวลากชาวบ้านเข้ามาร่วมกัน จากงานวิจัยเราพบว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่า “พหุลักษณ์ของเหตุผล” และ “พหุสัมพันธ์ของกลุ่มชนชั้นต่างๆ” ที่เข้ามาร่วมกันสร้างขบวนการ บางกลุ่มเป็นเหตุผลทางการเมืองหรืออุดมการณ์ บางกลุ่มเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ
และจริงๆ แล้วถ้าถามว่า เฉพาะในเชียงใหม่ จากการสัมภาษณ์ การลุกขึ้นมาค้านรัฐประหารนั้น เหตุผลจริงๆ ถ้าจริงนะคะ แกนนำว่าเช่นนั้น ว่าไม่ใช่เพราะทักษิณ แต่เป็นเรื่องของการประกาศกฎอัยการศึกในเชียงใหม่ทำให้เศรษฐกิจท่องเที่ยวตก ต่ำ และเมื่อกลุ่มแกนนำเขาไปประท้วงกัน ทหารก็จับไปขังในคุก นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ก่อให้เกิดขบวนการต่อเนื่องตามมา
คือมันมีเหตุผลมากมายของผู้คนซึ่งเข้ามาร่วมกับขบวนการนี้ ความหลากหลายนี้มันจึงน่าสนใจถ้าเทียบกับขบวนการเคลื่อนไหวของขบวนการสังคม ในยุคก่อนๆ ขบวนการชาวนาชาวไร่ ประเด็นคือค่าเช่านา ขบวนการของสมัชชาคนจน ประเด็นคือค้านโครงการขนาดใหญ่ เสื้อแดงอาจจะเป็นขบวนการแรกละมั้งในประวัติ ศาสตร์ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีเหตุผลที่มากมายแต่สามารถที่จะ เหลาประเด็นให้เป็นประเด็นเดียวกันได้ในเวลาต่อมา เมื่อมันมีพัฒนาการ
ขบวนการดังกล่าวมีความเป็นเอกเทศ และรวมตัวกันแบบหลวมๆ พูดง่ายๆ คือว่า ตรงกันข้ามกับคำอธิบายกระแสหลักที่ว่า เป็นขบวนการที่สั่งการมาจากศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ “เรียกก็มาม็อบ” เนี่ย เราพบจากการศึกษาว่าขบวนการนี้รวมตัวกันแบบหลวมๆ ไม่มีใครสั่งใครได้ ถ้าเห็นพ้องกันว่าการเคลื่อนไหวเป้าหมาย ณ เวลาหนึ่งๆ มันสำคัญ ก็รวมตัวกัน เป็นขบวนการแบบแนวนอนเชื่อมโยงในรูปแบบเครือข่ายและพึ่งพาตัวเองในแง่ทุน
เราพบว่ากลุ่มที่เรียกว่าเสื้อแดงในระดับอำเภอ ในระดับท้องถิ่น พัฒนายุทธศาสตร์หาทุนอันหลากหลาย กล่าวคือ สมัชชาคนจนอาจจะได้รับทุนมากมาย และส่วนหนึ่งการระดมทุนก็คงจะมีวิธีการระดมทุนของตัวเอง เอ็นจีโอก็สนับสนุนทุนด้วย แต่ขบวนการของชาวบ้านเสื้อแดง ดิฉันว่าการพึ่งพาตัวเองในแง่ทุน ในการจัดหาทุนค่อนข้างเติบโตและเป็นตัวของตัวเอง
การเติบโตในระดับอำเภอ ในกรณีเชียงใหม่ การเกิดขึ้นของชมรมเสื้อแดงในแต่ละอำเภอ อิทธิพลใหญ่มาจากกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 และ นปช. เสื้อแดง และที่สำคัญก็คือแตกต่างจากขบวนการสังคมในอดีต
เราพบว่าในขณะที่ขบวนการสหพันธ์ชาวไร่ชาวนานั้น กลุ่มคนที่เรียกตัวเองเป็น “นัก จัดตั้ง” หลักๆ ก็คือนักศึกษา หรือชนชั้นกลาง ปัญญาชนในเมือง ขบวนการสมัชชาคนจนกลุ่มที่จัดตั้งเป็นขบวนการเอ็นจีโอ ในกรณีของเสื้อแดงเราพบว่าชาวบ้านธรรมดานั้นผันตัวเองขึ้นมาเป็นนักกิจกรรม ชนบท ทำงานจัดตั้งกันเอง ทำงานสร้างเครือข่ายกันเอง ซึ่งดิฉันคิดว่าเป็นมิติที่ไม่มีในขบวนการสังคมในอดีตที่ผ่านมา
งานวิจัยยังพบอีกว่า สิ่งที่เรียกว่า อุดมการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงนั้น มีการเปลี่ยนผ่าน คือมันไม่ได้เริ่มจากฐานความคิด หรือความเชื่อเดียวกันในตอนแรก
ในตอนแรกเขาอาจจะคิดง่ายๆ ว่า เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่อุดมการณ์ทางการเมืองมันเปลี่ยนผ่านอย่างน้อย 2 ระลอก คือก่อนและหลังเดือนพฤษภาคม (2553) จริงๆ เปลี่ยนผ่านหลายระลอก ในศัพท์ที่คนเสื้อแดงเรียกว่า “ตาสว่าง” เกิดหลายระลอก แต่ว่าจุดที่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่มีผลอย่างยิ่งต่อวิธีคิดของคน เสื้อแดงในการมองความสัมพันธ์ของตนเอง กับสถาบันต่างๆ ในสังคมไทยรวมทั้งสถาบันสูงสุด ดิฉันคิดว่าเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 เป็นเงื่อนไขที่สำคัญ
ความเชื่อที่ว่าเสื้อแดงเกิดขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นคล้ายๆ กับแขนขาของพรรคไทยรักไทย เพื่อจะทำให้พรรคการเมืองกลับเข้ามามีอำนาจอีกก็ไม่จริงที่เดียวนัก เพราะว่าหลังจากพรรคไทยรักไทยถูกโค่นล้มใหม่ๆ นั้นยังไม่มีปฏิบัติการทางการเมืองใดๆ จนกระทั่งมีรัฐประหารแล้ว และมันเริ่มต้นจากในเมืองก่อนในชนบท มีการก่อตัวของชนชั้นกลางในเมืองที่รวมตัวกันตั้งกลุ่มขึ้นมา และค่อยๆ ขยายลงสู่ชนบท และเครื่องมือหรือกลไกสำคัญที่ใช้ในการขยายตัวของกลุ่มระดับอำเภอก็คือวิทยุ ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่อง 92.50 MHz
แต่เรายังพบว่า ในระดับอำเภอนั้น สมาชิกเสื้อแดงก็มีความหลากหลายทางอาชีพมาก “กลุ่ม แดงดอยสะเก็ด” (อ.ดอยสะเก็ด) นั้น มีประธานเป็นพ่อค้าในตลาดดอยสะเก็ด แกนนำประกอบไปด้วย ครู นักธุรกิจท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร ข้าราชการในอำเภอ เกษตรกร พูดง่ายๆ คือว่าแทบจะเป็นทุกกลุ่มที่เป็นสมาชิกสังกัดสถานะทางสังคมแทบทุกสถานะใน สังคม มันไม่ใช่แค่เกษตรกรหรือชาวนารับจ้างอย่างเดียว
กรณีที่ อ.ฝาง (กลุ่มคนรักประชาธิปไตยฝาง-แม่อาย-ไชยปราการ) ก็เช่นเดียวกัน แกนนำมาจากหลายหมู่เหล่า ผู้นำก็เป็นคหบดีท้องถิ่น ที่เป็นประธานกลุ่มในอดีต ปัจจุบันก็เป็นเจ้าของร้านอาหาร และเป็นอดีตสหาย
ที่ อ.สันกำแพง (กลุ่มสันกำแพงรักประชาธิปไตย) กลุ่มหลักก็คือแม่ค้า
ที่พยายามจะบอกอันนี้ ก็คือจะบอกว่ามันเป็น “ขบวนการข้าม ชนชั้น” (Cross Class) ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางอาชีพและทางสถานะอย่างยิ่ง แต่สามารถที่จะมารวมตัวกันภายใต้อุดมการณ์ร่วมๆ เดียวกันได้
ดิฉันคิดว่า ขบวนการแบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย พูดง่ายๆ ก็คือว่า คนซึ่งต่างสถานะทางเศรษฐกิจนั้นจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกันได้อย่างไร
คำถามใหญ่ซึ่งมักจะถูกถามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจากนักรัฐศาสตร์ก็คือว่า เสื้อแดงนั้นสัมพันธ์อย่างไรกับพรรคการเมือง เราพบว่าจริงๆ แล้ว พรรคการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคไทยรักไทยมีบทบาทสำคัญในขบวนการเสื้อแดง นี้แน่ๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าในช่วงการก่อตัวของขบวนการในยุคแรก พรรคการเมืองหรือกระทั่ง นปช. ส่วนกลางมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง หรือไม่ค่อยเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว
การเคลื่อนไหวของ นปช. หรือ เสื้อแดง ในระดับท้องถิ่นทำกันเอง พรรคการเมืองไม่ได้สนับสนุน แกนนำให้สัมภาษณ์ด้วยซ้ำไปว่า “จริงๆ อยากให้พรรคการเมืองท้องถิ่นสนับสนุน” แต่หลายส่วนค่อนข้างกลัวเพราะอยู่ในช่วงของการรัฐประหาร
แต่เมื่อมีกิจกรรมขึ้นมาแล้ว พรรคการเมืองจึงเริ่มเข้ามาสัมพันธ์ด้วย แต่ความสัมพันธ์เป็นไปในลักษณะของเครือข่ายพันธมิตร พรรคการเมืองสนับสนุนเรื่องเงินไหม สนุนเวลามีม็อบที่กรุงเทพฯ แต่ว่าทุนส่วนใหญ่ก็เป็นทุนมาจากชาวบ้านระดมกันเอง มันเป็นการคล้ายๆ กับ “เกื้อ หนุนซึ่งกันและกัน” เพราะว่ามีเป้าหมายเดียวกัน แต่เวลาพูดถึงพรรคการเมือง ก็ต้องระบุด้วยว่าเป็นปีกหนึ่งของนักการเมืองในพรรคไทยรักไทย มวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรมก็ย่อมเป็นมวลชนที่เลือกพรรคไทยรักไทย หรือเพื่อไทยอยู่แล้วแน่นอน
ประเด็นที่สอง คือ “การกลายเป็นแดง” เสื้อแดงไม่ใช่สิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ที่อยู่ๆ ก็เป็นกันง่ายๆ ดิฉันมองว่า ในช่วงหลายปีของการเข้าร่วมขบวนการ กระบวนการกลายเป็นแดง มันเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างหลากหลาย จนกระทั่งสร้างอัตลักษณ์ร่วมขึ้นมาได้ ในที่สุดถ้าถามว่า “ความเป็นแดง” คืออะไร ชาวบ้านนิยามในความหมายที่คล้ายๆ กันคือ "ตัวตนใหม่ของพลเมืองเสรีนิยม" ขอใช้คำนี้ก็แล้วกัน
นี่เป็นคำพูดจากแกนนำ นปช. คนหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ก็ชัดเจนว่าในระดับชาวบ้านเองก็พูดชัดว่า สิ่งที่สำคัญที่ชาวบ้านหรือสมาชิกชาวเสื้อแดงพยายามเรียกร้องคือ การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบ” ทีนี้ระบอบคืออะไรก็เป็นเรื่องซับซ้อนที่คุยกันได้ยาว ชาวบ้านอยากเห็นอะไรในแง่จินตนาการทางการเมือง แต่ว่าที่สำคัญก็คือว่าถ้าระบอบนี้ไม่เปลี่ยน คนเสื้อแดงก็คิดว่า สังคมไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้
"ผมว่าเรื่อง ที่เราต่อสู้ช่วงแรกเนี่ย ต้องถือว่าปัญหาเป็นหลักใหญ่ใจความก็คือว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็คือ ว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่ปวงชน ฉะนั้นนั่นหมายความว่าสามอำนาจต้องถูกเลือกจากประชาชน...แล้วทุกคนพูดถึง ระบอบ ถึงโครงสร้างตัวนั้นเนี่ย ผมบอกว่าตัวนั้นถ้าไม่ปรับตัวนะ ผมว่าพัฒนาการขับเคลื่อนทางสังคม ผมทายไว้ก่อนเลยนะครับ มิคสัญญีจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยล้านเปอร์เซ็นต์?ตราบใดสังคมนี้ไม่ได้ ประชาธิปไตย หนึ่ง โครงสร้างไม่ปรับ สอง ยาก ผมบอกเลย ยาก ที่สังคมจะสงบนะครับ"
นี่ก็น่าสนใจจากคำพูดของชาวบ้านที่ฝาง (บ้านสันทรายคองน้อย ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่) ที่บอกว่าการกลายเป็นแดงหรืออัตลักษณ์แดงมันไม่ได้เป็นคล้ายกับสมบัติที่ไป ซื้อมาแล้วอยู่ๆ ก็เป็น หรือไปนั่งฟังแล้วกลายเป็นแดง คนนี้เขาเป็นเกษตรกรก็บอกว่าแต่ก่อนก็เป็นเหลือง ถามว่า เหลืองคืออะไร เขาบอกเหลืองเป็นพวกอนุรักษ์ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ทำนองนี้ล่ะค่ะ แต่ก่อนก็เป็นอะไรพวกนี้
ทีนี้แดงคืออะไร ชาวบ้านบอกว่าแดงเกิดจากความไม่ยุติธรรม หมายความว่าเวลามีกติกาก็ต้องเคารพกติกา แต่ถ้ารัฐไม่ทำตามสัญญา ก็คือละเมิดข้อสัญญาของเรา มีเลือกตั้งก็ไปล้ม แต่งตั้งมา ไม่มีการเลือก เอาอภิสิทธิ์มาเป็นนายกฯ คือประชาชนไม่ได้เลือกมาแสดงว่าไม่ทำตามกติกา เหมือนหมู่บ้านจะมีผู้นำ ก็ต้องมีการประชุม มีการเลือก มีกติกาแบบนี้ เมื่อรัฐไม่ยอมทำตามกติกา แกก็เลยเริ่มกลายเป็นเสื้อแดง เพราะไม่มีความยุติธรรม ดิฉันเข้าใจว่ามีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยกลายเป็นแดงแบบนี้
"แต่ก่อนน่ะ เหรอ เมื่อก่อนเป็นสีเหลืองน่ะสิ เมื่อก่อนนี้ก็เป็นเสื้อเหลือง อนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม พวก นี้ ในป่า ในอะไรพวกนี้ แล้วที่นี้เรื่องที่เป็นเสื้อแดงก็หมายถึงว่า ความไม่ยุติธรรม หมายความว่า กติกาคนเราจะต้องมีกติกาใช่ไหม กติกาก็หมายถึงสัญญา แล้วทีนี้ รัฐบาลมันไม่ทำตามสัญญาเราใช่ไหม ไม่ทำตามสัญญา ก็หมายความว่า ไปละเมิดข้อสัญญาเรา ไม่มีการเลือกตั้งขึ้นมา มีการไปแต่งตั้งขึ้นมา ไม่มีการเลือก แต่งตั้งแล้วเอาอภิสิทธิ์เป็นนายก อันนี้คือประชาชนเราไม่ได้เลือกตั้งขึ้นมา อันนี้หมายความว่าไม่ทำตามกติกา เหมือนกับชาวบ้านเราเหมือนกันน่ะ เมื่อมีการประชุม เราก็จะมีการกติกานะ ให้ทำตามแบบนี้ แล้วที่นี้ ทางรัฐบาลไม่ยอมทำตามกติกาเรา ตาก็เลยเริ่ม เออ ความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นมา ก็เลยเป็นเสื้อแดง เป็นเสื้อแดงแบบนี้แหละครับ"
สิ่งที่พยายามจะแยกให้เห็นว่า เสื้อแดงหรือ นปช. แม้ว่าจะเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมือง คือ พรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นแขนขา เพราะแกนนำพูดชัด ซึ่งอันนี้สัมภาษณ์ก่อนการเลือกตั้งว่า
"แต่ถ้าสมมติ ว่าพรรคที่ได้รับเลือกมาเป็นพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาลนะครับ แล้วทำไม่ดี ทำห่วยยิ่งกว่าพรรคประชาธิปัตย์ เราก็จะจัดการคนของเราเองนะครับ อันนี้ก็จองกฐินไว้ล่วงหน้าเลย กลุ่มของเราชนะแล้วไม่ใช่จะเลิก"
ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภายใต้ระบบเลือกตั้งก็เป็นเช่นนั้นนั้น ถ้าพรรคการเมืองไม่ทำตามนโยบายที่ได้รับปากไว้ ประชาชนก็มีสิทธิที่จะกดดันเรียกร้องให้เปลี่ยนพรรคการเมือง
ก็มีคำสองคำที่พูดในขบวนการเสื้อแดงอยู่มาก คือ สิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นแดง” กับ “ความเป็นไพร่” ซึ่ง เมื่อไปถามคนเสื้อแดงว่า เสื้อแดงคืออะไร ทุกคนก็จะตอบคล้ายกันว่า เสื้อแดงคือ คนที่รักความเป็นธรรม รักประชาธิปไตย เป็นผู้ที่รักความจริง
อันสุดท้ายสำคัญมาก คือชาวบ้านมองสื่อกระแสหลัก และสิ่งที่รัฐพูดนั้นเป็นข้อมูลด้านเดียว เสื้อแดงพยายามเข้ามาเปิดข้อมูลอีกด้านหนึ่งให้โลกรู้ อันนี้เป็นที่มาว่า เหตุใดสื่อเสื้อแดงจึงมีความสำคัญอย่างมาก คือความพยายามเปิดเผยความจริงด้านที่สังคมไทยปิดและไม่ยอมเปิดให้มีการรับ รู้ นี่เป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยทางการเมือง
ส่วน “ความเป็นไพร่” สะท้อนความเป็นพลเมืองชั้นสองภายใต้ความสัมพันธ์กับรัฐไทย แต่พอผ่านการเลือกตั้งมาก็ไม่แน่ใจว่า วาทกรรมอันนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร ก่อนการเลือกตั้งวาทกรรมนี้เป็นวาทกรรมใหญ่ คือ เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแต่เป็นแค่พลเมืองชั้นสอง ไม่ว่าทำอะไรรัฐไม่เคยรับรู้ และพยายามกดทับอยู่ตลอดเวลา
สองอันนี้ (“ความเป็นแดง” และ “ความเป็นไพร่”) เป็นอัตลักษณ์ร่วม ที่ทำให้ ไม่ว่าจะเป็นใครหรือว่าอยู่ชนชั้นไหนก็แล้วแต่ ความเป็นผู้ที่รักความจริง รักประชาธิปไตย เป็นผู้ไม่มีอำนาจทางการเมืองในสังคมไทย มันสร้างอัตลักษณ์ร่วมความเป็นเสื้อแดงขึ้นมา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
เรื่องเล่าจาก “ไชยันต์ รัชชกูล” และของฝากอำมาตย์, 2 ก.ย. 54
http://www.prachatai.com/journal/2011/09/36827
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น