สังคมไทยกำลังเผชิญกับ "วิกฤตความขัดแย้งซับซ้อนครั้งใหญ่" ซึ่งเป็นผลพวงจากการบริหารประเทศของ "ชนชั้นนำไทย" หลังการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ย้อนดูประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น เมื่อเริ่มก่อการและหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 คณะราษฎร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงถูกตีโต้แตกพ่าย "ความเป็นประชาธิปไตย ถูกยึดครองโดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมขุนนาง" การตามฆ่า ตามล่า ล้างบางคณะราษฎร และฝ่ายก้าวหน้าเสรีนิยม เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โหดเหี้ยม จนถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ขึ้นครองอำนาจ ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจรัฐเผด็จการโดยสมบูรณ์ ขบวนการปฏิวัติไทย ซึ่งนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ประกาศวัน "เสียงปืนแตก 7 สิงหา 2508" จัดตั้งกองทัพประชาชนไทยต่อสู้ด้วยกองกำลังอาวุธ "อำนาจรัฐจะได้มาด้วยกระบอกปืน" ใช้ยุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมือง ต่อสู้กันยาวนาน 40 กว่าปี ฝ่ายปฏิวัติสิ้นสภาพลงในปี 2527 ด้วยนโยบาย 66/23 และสถานการณ์ขัดแย้งสากลสังคมนิยม "ความเป็นประชาธิปไตยถูกยึดครองโดยกลุ่มผู้ปกครองที่มีวาระผลประโยชน์ร่วม กัน" ภายใต้ความเมามันในลาภยศผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ครองอำนาจ ทั้งแย่งชิง ถักทอกันเป็นเครือข่าย เป็นม่านดำห่มคลุมประเทศไทย ไว้ในนามของ "ประเทศต้องพัฒนา" ประชาชนถอยล่นจนมุมอยู่กับชะตากรรมในฐานะ "ผู้ด้อยสมบูรณ์" จนเกิดวิกฤติ IMF เศรษฐกิจพังทลาย เพราะความไร้เดียงสา โลภโมโทสันในความมั่งคั่งของชนชั้นนำไทย เป็นเหยื่อของทุนนิยมโลก
"รัฐบาลไทยรักไทย" นำโดยกลุ่มทุนทักษิณ สอดแทรกเข้ามาแก้ปัญหาปรับเปลี่ยนโครงสร้างบนบางส่วน เพื่อสนองตอบต่อการพัฒนาประเทศใหม่ถึงกับถูกกล่าวหารุนแรง ขายชาติล้มสถาบัน ก็พ่ายแพ้ให้แก่ "อำนาจนอกระบบของอำมาตย์ผู้ไม่เปลี่ยนแปลง" โดยการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 นำมาซึ่งความขัดแย้งปัจจุบันอันหมายถึง "ความขัดแย้ง เดินทางมาถึงซึ่งวิกฤติทุกมิติทางสังคมแล้ว" นั่นคือ
1. "ความขัดแย้งทางชนชั้น" ระหว่างผู้ได้เปรียบกับผู้เสียเปรียบและถูกนำเสนอในวาทกรรมสีแดง "ไพร่-อำมาตย์" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางความคิด การไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีเสรีภาพและไร้สิทธิคุณค่าแห่งคน เกิดสงครามสี อารมณ์ร่วมแบ่งฝ่าย เผชิญหน้าเข้าปะทะ ล้มตายกันเรียบร้อยโรงเรียน ปชป.ไปแล้ว ภายใต้การอำนวยการของมือที่มองไม่เห็นในระบอบอำมาตย์
2. "ความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์" เป็นความขัดแย้งเก่าเก็บที่ถูกรื้อค้นเอามาเผชิญหน้ากันในปัจจุบันเริ่ม "สืบสันดาน" บทบาทของตัวละคร ในเหตุการณ์ทางการเมือง ตั้งแต่ 2475 ถึงปัจจุบัน และก่อนหน้านั้น เป็นทวิภพ "ตากสิน-ทักษิณ" "กรือเซะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" "เผาบ้านเผาเมือง" "ผู้ก่อการร้าย" ล้มสถาบัน เล่นกันแบบจินตนาการคลาสสิก เหนือคำบรรยาย ภายใต้รูปการจิตสำนึกแห่งความเกลียดชัง
3. "ความขัดแย้งทางระบอบเศรษฐกิจ" นั่นคือความทุกข์ยากของแผ่นดิน ที่ส่งผลต่อการตื่นรู้ของประชาชน รู้โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม พฤติกรรมทางสังคมอำนาจเศรษฐกิจที่ฝ่ายได้เปรียบรุกกรานพื้นที่วิถีของฝ่าย ผู้ด้อยเปรียบ นำสู่ความรุนแรงทางสังคม อาชญากรรม และความอยุติธรรม "ในนามของผู้ปกครอง ประชาชนต้องเสียสละให้กับการพัฒนาประเทศ" ประเทศต้องการความสงบเพื่อการลงทุน ระบบเศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยสีดำ อำพรางซ่อนเร้น คนสุจริตยากลำบากในการทำมาหากิน สูญเสียโอกาส สูญสิ้นศักดิ์ศรี
4. "ความขัดแย้งทางการเมือง" ซึ่งยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ แต่กำลังพัฒนาเร่งเข้าสู่โหมดของอุดมการณ์ หลังการสลายคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ทั้งหมด "เป็นผลึกความขัดแย้ง" นำไปสู่รูปการจิตสำนึกใหม่ก่อเป็นกระบวนกิจกรรมการต่อสู้ของฝ่ายประชาชน ตามฐานะองค์กร และความรับรู้ ความขัดแย้งทางการเมืองในลำดับต่อไป "อยู่ที่ฐานพีรามิดใต้น้ำของปัญหาซึ่งเป็น ความขัดแย้งของกลุ่มชนชั้นปกครองในวาระการเปลี่ยนผ่านแผ่นดิน" อาจถึงขั้นหลายสถาบันของชาติ ต้องพบกับการพังทลายจมหาย ไปกับสายธารแห่งการเปลี่ยนแปลงของฝ่ายประชาชน หากไม่สำนึกและไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลง
"วิกฤติความขัดแย้งครั้งนี้" มีความซับซ้อน นับว่าเป็นปัญหาของทุกฝ่ายในสังคมไทย โดยเฉพาะ "ฝ่ายชนชั้นนำไทย" ผู้ปกครองประเทศมายาวนาน ต้องตอบโจทย์ฝ่ายตนเองให้ได้ว่าที่ปฏิบัติอยู่ ปัจจุบันนั้น "กำลังบ่มเพาะคุณงามความดีหรือความเกลียดชังให้กับแผ่นดิน" เหตุการณ์บ้านเมืองหลัง 19 กันยายน 2549 นั้น "เป็นประวัติศาสตร์ระยะสั้นที่กระตุ้นแรงเร้าปัจจุบันแบบเร่งด่วน" กระบวนการกลไก ตัวละครอำนาจหลังการรัฐประหารของ คมช. ที่ถูกสร้างขึ้นไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับสังคมได้ แต่กลับทุ่มโถมอคติแห่งอำนาจเสียดเย้ยเหยียดหยามฝ่ายปรปักษ์และประชาชน อย่างไร้สำนึก สร้างวาทะกรรมอำพราง สร้างเงื่อนไขสถานการณ์ฉกชิงอำนาจ โดยไม่เลือกวิธีการ ว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่
ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในเงื่อนไข "การเลือกตั้ง" ไม่ได้ชี้ว่า "ทักษิณชนะ" แต่เป็นนัยยะบอกว่า "ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง" แล้วครับท่าน!
คนไร้เงา
25/08/2554
http://forum1.arinwan.com/index.php?topic=3106.msg4446%3Btopicseen#msg4446
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น