Wed, 2011-09-21 00:58
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
เราจะทบทวนวาระครบรอบครึ่งทศวรรษการรัฐประหาร 19 กันยาอย่างไรดี
สำหรับผม บทสรุปที่ดีที่สุดอยู่ในประโยคที่ว่า "ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม" เพราะมันเป็นประโยคที่สะท้อนทั้งอดีต ปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความวาดหวังในอนาคต
แน่นอน เราควรจะเริ่มต้นวาระนี้ด้วยการรำลึก คารวะ และแสดงความอาลัยต่อผู้สูญเสียทุกผู้นาม ทุกสี ทุกชนชั้น ทุกความเชื่อ กระนั้นแม้เราจะกราบจรดดิน กู่ก้องยกย่องในจิตใจกล้าหาญและเสียสละให้ฟ้าได้อิจฉา จะอย่างไรมนุษย์ก็ไม่ควรต้องสูญเสียเพียงเพราะคิด เชื่อ ฝัน หรือวาดหวังต่างกัน และไม่มีอำนาจใดที่มีสิทธิพรากชีวิตและวิญญาณของผู้คนที่เป็นเจ้าของแผ่นดิน ที่แท้จริง
ถัดจากนั้น นี่สมควรเป็นวาระที่เราจะได้ทบทวนว่า นอกจากความสูญเสียชีวิตของเพื่อนร่วมแผ่นดินแล้ว เรายังได้สูญเสียอะไร และได้อะไรมา
ผมอยากจะใช้โอกาสนี้พูดถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมองย้อนกลับไปที่รัฐบาลไทยรักไทยในสมัยเริ่มต้น ก่อนจะจบฉากด้วยการรัฐประหาร เพื่อเริ่มฉากใหม่ เป็นรัฐบาลที่ไม่เหมือนเดิมในชื่อพรรคเพื่อไทย
รัฐบาลไทยรักไทย เริ่มต้นหลังจากที่พรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งครองเสียงอันดับหนึ่งใน สภา จัดตั้งรัฐบาลผสม ก่อนจะควบรวมพรรค กลายเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง นัยว่าเพื่อจัดการความมั่นคงทางการบริหาร และสร้างอำนาจต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ
ย่างก้าวของการบริหารราชการ รัฐบาลพรรคไทยรักไทยเริ่มด้วยการจัดการกับระบบงบประมาณ เปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณที่ใช้กระทรวงเป็นตัวตั้ง มาเป็นภารกิจตามนโยบายที่ได้หาเสียงเลือกตั้งไว้ และสร้างระบบการบริหารงบประมาณที่คล่องตัว พร้อมๆ ไปกับยกเครื่องระบบการจัดเก็บภาษี และทำให้กรมสรรพากรกลายเป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพอย่างก้าวกระโดด
ไม่กี่ปีของการเป็นรัฐบาล รัฐบาลไทยรักไทยทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารราชการใหม่ จัดตั้งกระทรวง กรมใหม่ โยกย้ายสังกัดระดับกรม กอง ให้สอดคล้องกับภารกิจและยุทธศาสตร์ พร้อมๆ ไปกับสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลง แล้วเรียกมันว่า "การปฏิรูประบบราชการ" มีความพยายามโปรโมทว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงระบบราชการขนานใหญ่ในรอบ 100 ปี มีการเตรียมการถ่ายทอดสดวันเริ่มต้นการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่ ก่อนจะงดไปแบบไม่ทราบสาเหตุ
แม้โดยเนื้อหาของสิ่งที่เรียกว่า ปฏิรูประบบราชการจะเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนสังกัดกรม กอง และเปิดหน้างานใหม่ๆ ให้มีผู้รับผิดชอบโดยตรง แต่สาระสำคัญสำหรับผม กลับไปอยู่ที่การสร้างกระแส เพราะแม้การเปลี่ยนแปลงสับเปลี่ยนสังกัดกรมกองในกระทรวง ทบวง กรม จะไม่ได้มีผลต่ออำนาจแนวดิ่งในระบบราชการ แต่กระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ที่หากพุ่งขึ้นสูงได้จริง ก็ไม่แน่ว่า โครงสร้างที่ถูกเปลี่ยนแปลงเพียงน้อยนิด จะได้ลากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระดับวัฒนธรรมในระบบราชการ ที่มีภารกิจเป้าหมายเพื่อรับใช้และบริการประชาชน แทนการเป็นนายของประชาชน
ไม่ว่าจะอย่างไร เราได้เห็น One Stop Service ผุดขึ้นในหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน เรารู้สึกได้ในความเป็นผู้ใช้บริการยามเมื่อเราเดินเข้าโรงพยาบาล และกลับออกมาด้วยความภาคภูมิใจที่เราเป็นคนไทยที่มีคนให้บริการที่ดี ผิดแผกไปจากเดิมที่ต้องรู้สึกขอบคุณและเป็นหนี้บุญคุณแพทย์และพยาบาลที่สู้ อุตสาห์รักษาเรา หรือยอมให้เราเป็นคนไข้อนาถา
เรารับรู้ได้ว่า ลานจอดรถด้านหน้าอาคารโรงพยาบาลทหาร สงวนไว้เพื่อบริการประชาชน ซึ่งช่างผิดแผกแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในรัฐบาลชุดหลังการรัฐประหาร ที่ลานจอดรถกลายมาเป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่ถูกกั้นด้วยเชือก โดยมีป้ายติดว่า "ที่จอดรถสำหรับนายทหาร"
แม้กระทั่ง เรารู้สึกได้ว่า เราต้องจ่ายภาษีเงินได้ เพราะเมื่อปีที่แล้วเราได้คืนภาษีอย่างรวดเร็ว หรือยอมจ่ายภาษีด้วยความเต็มใจ หลังจากเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเพียรอธิบายถึงปัญหาการกรอก ภงด.และเหตุผลในการไม่คืนภาษีด้วยจิตใจแห่งการบริการ
ยังไม่ต้องพูดถึงผลจากนโยบายสารพัดที่ได้สร้างให้เกิดคนชั้นกลางเกือบ เต็มประเทศไทย ความใฝ่ฝันที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โอกาสปรากฏที่ตรงหน้าอยู่ที่ใครจะปรารถนาฉกฉวยไว้หรือไม่
จะมากจะน้อย เศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่ ปัญหายาเสพติดจะดีขึ้นแค่ไหน เห็นความรุดหน้าของบ้านเมืองอย่างไร ก็ไม่สู้ความรู้สึกรวมๆ ที่ได้รับตลอดช่วงรัฐบาลไทยรักไทยเหล่านี้ เป็นความรู้สึกที่ขี้ครอกอย่างเรากล้าออกมาเดินถนนทัดเทียมกับทุกถ้วนคน ปล่อยให้ผู้ดีที่แอบรังเกียจเราต้องหลบไปเดินตรอก
ความมั่นใจในการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยลงรากในระดับความมั่นใจ แห่งชาติ ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นแค่สัญลักษณ์ ที่จะอย่างไรก็ต้องลงเลือกตั้งทุก 4 ปี จะอย่างไรก็ผ่านมาแล้วผ่านไป
ครึ่งแรกของรัฐบาลไทยรักไทย ผมเคยพูดเปรยกับเพื่อนนักข่าวว่า หากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างได้ผล ชะตากรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ หนีไม่พ้นที่จะถูกลอบสังหารหรือไม่ก็รัฐประหาร และโชคร้ายของประเทศไทยที่ผมเดาถูก ความปรารถนาของเราที่จะเห็นประชาธิปไตยที่ดีกว่าเดิม เห็นพรรคการเมืองและการบริหารที่ดีขึ้น และแสดงออกด้วยการแห่แหนออกมาไล่ทักษิณหรือไม่ก็เมินเฉยไม่ปกป้อง ได้ถูกหยิบใช้กลายมาเป็นเครื่องมือล้มล้างประชาธิปไตย
แน่นอน เราไม่อาจหลงลืมผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากมาตรการ นโยบาย และยุทธศาสตร์ที่ทรงประสิทธิภาพต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีฆ่าตัดตอน การทุจริตคอรัปชั่น กระทั่งเราไม่อาจลืมนโยบายและมาตรการที่ผิดพลาดอย่างกรณีการจัดการปัญหาสาม จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รุนแรงจนไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ กระนั้นก็ไม่ใช่เหตุผลใดๆ ที่จะนำมาใช้อ้างเพื่อทำรัฐประหารได้
แต่ผลข้างเคียง ผลกระทบ การบริหารจัดการที่ผิดพลาด หรือแม้กระทั่งการรัฐประหาร การจัดตั้งรัฐบาลเสื้อคลุมประชาธิปไตย ก็ไม่อาจกลบหรือถูกขับเน้นให้บดบังการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ได้ ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว ไม่เหมือนเดิมแล้ว ประชาชนตื่นจากความคิดความเชื่อเรื่องกรรมเรื่องเวรแล้ว
ขบวนการคนเสื้อแดง คือเครื่องพิสูจน์ว่า เขากำหนดอนาคตตัวเองได้ และผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 คือสิ่งยืนยันการเปลี่ยนแปลงนั้น
แต่ผมสงสัยอยู่ว่า การเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงแบบถล่มทลาย รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เปลี่ยนนามมาจากพรรคไทยรักไทย จะยังคงรักษาจิตวิญญาณที่ได้เคยกระทำมาในนามเดิม และรักษาความงอกเงยที่ได้จากการต่อสู้ของมวลชนคนเสื้อแดงในทุกมิติหลังการ รัฐประหารได้หรือไม่
เรารอพิสูจน์อยู่ว่า นโยบายที่ลดแลกแจกแถมอยู่ในเวลานี้ จะผลิดอกออกผลงดงามเหมือนที่เคยเป็นในอดีตหรือไม่ นโยบายที่เน้นการปรองดอง นโยบายที่จะคืนความเป็นธรรม จะมีส่วนในการยกระดับโครงสร้างในมิติต่างๆ หรือไม่ โดยเฉพาะมันยังคงขับเคลื่อนความฝัน ความหวังของผู้คน และสร้างความมั่นใจในความเป็นนายเหนือข้าราชการ และเจ้าขุนมูลนายเดิมหรือไม่
หรือมันทำหน้าที่เพียงแค่เลี้ยงตัวเองให้อยู่ได้ แต่สูญเสียความฝันที่จะเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยอาจจะได้ "ทักษิณ" กลับมา แต่จะได้กลับมาแบบไหน
"ทักษิณ" ที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ จะออกจากแผ่นดินนี้ไปด้วยความหนุ่ม แล้วกลับมาด้วยความแก่หรือไม่
5 ปีที่ผ่านมา ความบอบช้ำ ราคาได้-ราคาจ่ายที่ต้องนำมาชั่งน้ำหนัก ทำให้เราอายุมากขึ้นด้วยกันทั้งนั้น โชคดีที่ว่า เมื่อเราหันไปดูรอบๆ ตัว คนหนุ่มและความหนุ่มกำลังดาหน้าเติบโต เหมือนน้ำที่ไหลเข้าสะสมในเขื่อนรอวันท่วมทะลาย เพียงแต่ว่าเมื่อไรเท่านั้นเอง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องยากเกินคาดเดา
สำหรับนักการเมือง ปลายขบวนแถวแห่งการเปลี่ยนแปลงในวาระ 5 ปีรัฐประหาร ผมนึกถึง พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ผู้เป็นประธานที่ปรึกษารัฐบาล 2 สมัย คือรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เราเคยถามเขาว่า จะขัดข้องไหมหากจะแนะนำประวัติในบทสัมภาษณ์ว่า "ประธานที่ปรึกษาสองรัฐบาลที่ถูกทำรัฐประหาร" อดีตที่ปรึกษาผู้นี้ยิ้มรับ ผมแอบนึกเสียด้วยซ้ำว่า นั่นคือความภูมิใจ
นักการเมืองไม่ได้มีชีวิตเพื่อเป็นนักการเมือง แต่มีเพื่อการเปลี่ยนแปลง
http://www.prachatai3.info/journal/2011/09/37008
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น