Thu, 2011-04-21 21:01
ดร.โสภณ พรโชคชัย
ในสังคมทุกวันนี้หลายคนแสดงตัวเป็นคนดี แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขา เป็นคนดีจริงหรือไม่ เราควรรู้ให้ถ่องแท้ หาไม่คนชั่วในคราบคนดีอาจหลอกลวงให้เราเสียรู้ หรือมาหลอกให้ประเทศชาติของ เราเสียหาย
คนดีแต่เปลือก?
คนชั่วแท้ ๆ โจรกักขฬะ มักจะเป็นที่สังเกตเห็นได้โดยไม่ยาก แต่คนที่เปลือกนอกดูดี แต่แท้จริงเป็นโจร โดยเฉพาะพวก ‘ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ’ นั้น เรายิ่งต้องระวังให้จงหนัก เราจะตัดสินว่าใครเป็นคนดีนั้น ไม่ใช่สักแต่ ว่าเขาเป็น
1. ครู-อาจารย์ เพราะคนที่ใช้คุณวุฒิหลอกลวงเรามีให้เห็นอยู่ทั่วไป
2. นักบวช ในหมู่นักบวช ก็ยังมีพวก ‘แกะดำ’ บางรูปแม้ไม่ใช่คนเลว แต่ก็ไม่ใช่คนดีเด่นอะไร เพราะออกอาการอิจฉาริษยากันและกันให้เห็นอยู่บ่อย ๆ
3. คนเคร่งศาสนา บางคนออกแนวธรรมะ ธรรมโม พวกนี้ก็คล้ายนักบวช บางทีเคารพ-รับใช้เจ้ากูมากกว่าคำสอนของศาสดา ตอนนั่งสมาธิก็ดูสงบเย็น พอออกจากสมาธิก็เต้นเหมือนเจ้าเข้า
4. ข้าราชการระดับสูง เพราะคนระดับนี้แหละที่โกงชาติ ขายชาติได้แนบเนียนเหนือใคร ๆ
5. นายทหารชั้นผู้ใหญ่ เพราะคนระดับนี้แหละที่ทำรัฐประหาร ทำลายประชาธิปไตยให้เห็นมาหลายสิบปี รุ่นแล้วรุ่นเล่า เราต้องสังวรว่า คนที่บูชายศศักดิ์และยิ่งมียศศักดิ์สูง ยิ่งเห็นคนอื่นต่ำต้อยด้อยค่า
6. ผู้เทิดทูนสถาบันบางคน ที่อ้างว่ายอมตายถวายชีวิต แต่ความจริงแค่พูดเอาดีใส่ตัว แอบอ้างสถาบัน เช่น‘เซ็งลี้’ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังข่าวในอดีต จนถึงการใช้สถาบันมาทำลายคู่แข่งทางการเมือง กระทั่ง ‘ปรีดี พนมยงค์’ ก็ยังไม่รอด ในความเป็นจริงสถาบันจะแคล้วคลาดหากไม่มีพวกเขา ใน ทางตรงกันข้ามหากขาดสถาบัน พวกเขาต่างหากที่จะอยู่ไม่รอด หมดทางทำมาหากิน
อาจกล่าวได้ว่าคนไม่ดีหรือคนดีแต่เปลือกมักเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อ หรือให้ลูกสมุนยกหางของตนอย่างไม่ละอาย แต่ตัวตนที่แท้จริงกลับเป็นซาตาน เกาะกิน ทำลายชาติ อาศัยอาภรณ์ของความดีมาแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว ประเทศชาติกลับต้องหาเลี้ยง คนเหล่านั้นด้วยภาษี แล้วพวกเขายังใช้สถานะที่เหนือปุถุชนกอบโกย โกงกินจนร่ำรวยมหาศาล
ปุถุชนนี่แหละคนดี
ปุถุชนธรรมดาทั่วไปนี่แหละคือคนดีแท้ เพราะพวกเขา
1. เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ประเทศชาติอยู่ได้ เจริญขึ้น และกลายเป็นโอกาสให้กาฝากเสพสุข และฝังลึกลงในกลไกการปกครองแผ่นดิน
2. เป็นผู้ที่ตายเพื่อชาติอย่างแท้จริงในสงครามต่าง ๆ ที่พวกเขาไม่เคยได้ก่อ แต่มักก่อโดยชนชั้นปกครองในอดีตหรือเหล่าจักรวรรดินิยม แม้ในยามชาติล่มจม เช่น ลาว เขมร เวียดนาม ปุถุชนนี่แหละคือผู้ที่ยังอยู่สร้างชาติขึ้นมาใหม่ ส่วนพวกคนรวย คนมีสถานะสูงส่ง นายทหารใหญ่ ข้าราชการระดับสูง หรือพวกรักสถาบันจนน้ำลายไหล ล้วนหนีไปเสพสุขใต้ปีกจักรวรรดินิยม
อย่างไรก็ตามปุถุชน มักถูกหาว่าโง่ ไม่ละเอียดอ่อน ขาดศิลปะ ไร้มรรยาท มักจมปลักกับเรื่องเฉพาะหน้า หรือเป็นพวก ‘ละครน้ำเน่า’ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของชาวบ้านร้านตลาดที่ไม่ ได้มียศศักดิ์หรือหน้ากากอะไรจะสูญเสีย บ้างก็ดิ้นรนทนทุกข์ จึงก่อเรื่องผิด ๆ ไปบ้าง จนกลับถูกตราหน้าร้ายแรงว่าเป็น ‘คนบาป’ ในสายตาพวกเคร่งศาสนา แต่ อันที่จริงความผิดบาปของปุถุชนนั้นยังนับว่าเล็กน้อย ไม่อุกฉกรรจ์เท่าความผิดของพวกทรราชหรือกังฉิน
ถ้าเราศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรา ต้องมองเห็นค่าของปุถุชนคนเล็กคนน้อยที่ค้ำจุนสังคม เราต้องเคารพในเสียง ส่วนใหญ่ของปุถุชน แต่บางคนกลับบิดเบือนว่าเสียงส่วนใหญ่เชื่อไม่ได้โดยยก ตัวอย่างว่าชาวเยอรมันส่วนใหญ่หลงผิดจนเกิดฮิตเลอร์ ข้อนี้ไม่จริงฮิตเลอร์ ไม่เคยชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลพรรคเดียว และต่อมารวบอำนาจโดยการก่อรัฐประหารจนนำเยอรมนีไปสู่วิบัติ ในทางสังคม เศรษฐกิจการเมือง เราจึงต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของปุถุชน แต่ถ้าเป็นศิลปะวิทยาการ เราต้องฟังผู้เชี่ยวชาญ เช่นการสร้างจรวดไปดวงจันทร์ เป็นต้น
อย่าถวิลหาดีบริสุทธิ์
พวกคนดีจอมปลอมไม่เชื่อว่า ‘สูงสุดคืนสู่สามัญ’ และมักถวิลหาคนดี บริสุทธิ์ที่สวรรค์ประทานมา โดยไม่ยอมเข้าใจความจริงว่า ‘สถานการณ์ต่างหาก ที่เป็นผู้สร้างวีรบุรุษ’ ความดีเป็นสิ่งสัมพัทธ์ คนดีก็อาจทำผิดพลาดได้ บ้างเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในยาม ‘จิตตก’ เช่น บางทีเราอาจสอนลูกให้ทิ้งขยะให้ถูกที่ แต่บางทีเราก็อาจลืมตัว มักง่ายขึ้นมาบ้าง เป็นต้น
ถ้าเราเชื่ออย่างหยุดนิ่งแบบที่ว่าคนดีนั้นต้องดีตลอด ดีบริสุทธิ์ เราก็จะถูกคนดีจอมปลอมที่อ้างว่าสรวงสวรรค์ส่งตนมา เช่น คนทรงเจ้าเข้าผีหรืออื่น ๆ หลอกเราได้ การถวิลหาความดีบริสุทธิ์ จึงทำให้เราเชื่อคนง่าย สรรเสริญคนดีจอมปลอมอย่างไร้สติ กลายเป็นว่าเรา เอาชะตาชีวิตของตัวเองไปฝากไว้กับพ่อหมอ ท่านครู หรือฝากชะตากรรมของประเทศไว้กับผู้ปกครองคนใด ทั่วโลกชิงชังเผด็จการ เพราะไม่ว่าจะอ้างตนว่าอวตารมาจากไหน ก็ล้วนกลายร่างเป็นทรราชเมื่อมีอำนาจเบ็ดเสร็จคนเดียวหรือคณะเดียว
เกณฑ์วัดคนดี
คนดีต้องพยายามทำผิดให้น้อยที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำผิดเลย เพราะคนไม่เคยทำผิดก็คือคนที่ไม่ทำอะไรเลย คนไม่ทำอะไรเลยเพราะกลัวผิดย่อม ไม่ถือว่าเป็นคนดี แต่เป็นเพียงสวะลอยน้ำ ในสังคมอารยะสมัยปัจจุบัน เราต้องมีเกณฑ์วัดความดี สิ่งดีหรือคนดี ไม่ใช่สักแต่เชื่อตามคำร่ำลือหรือการโฆษณาชวนเชื่อ เกณฑ์ เหล่านี้คือบรรทัดฐานที่ทำให้เราวินิจฉัยได้ว่าใครดีจริงหรือดีแบบ กำมะลอ อย่างโบราณว่าไว้ ‘ทองแท้ไม่กลัวไฟ’ ต้องทนทานต่อการพิสูจน์ คนที่ จะเป็นคนดีจริง ก็ต้องเจริญสติ หมั่นตรวจสอบตนเอง และเพียรทำดีอยู่เสมอ
เราต้องมีระบบการตรวจสอบ และประกันความผิดพลาด เช่น หมออาจลืมกรรไกรไว้ในท้องคนไข้ ไม่มีหมอคนไหนตั้งใจทำ แต่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยความประมาท ดังนั้นจึงต้องมีการประกันความผิดพลาด คุ้มครองทั้งนักวิชาชีพและผู้รับบริการ
อาจกล่าวได้ว่า ความดี ความสำเร็จที่แท้ มาจากการฝึกฝน ยืนหยัดปฏิบัติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอต่างหาก ไม่ใช่มาจากการท่องมนต์ ท่องคาถา ไม่ใช่มาจากการนั่งยุบหนอ พองหนอ หรือไม่ใช่มาจากการเที่ยวไปจาริกแสวงบุญยังสถานที่สำคัญของพระศาสดา แต่อย่างใด
คนดีจริง ‘ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้’
http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/34167
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น