Tue, 2011-04-05 13:30
อานนท์ นำภา
ที่มา: http://rli.in.th/2011/04/05/บันทึกทนายความ-ฉบับที่-๑/
เดิมผมชั่งน้ำหนักการเขียนบันทึกในฐานะทนายความว่าควรเขียนดีหรือไม่ด้วยเหตุผลอยู่ 2-3 ประการ คือ บางทีอาจทำให้มองว่าเป็นการพรีเซนท์ตัวเอง หรืออาจถูกข้อหาอยากดังเป็นต้น แต่ภายหลังจากที่เข้าเยี่ยมจำเลยคดีหมิ่นล่าสุด(4 เมษายน 2554) ผมจึงตัดสินใจว่า งานของทนายความคงไม่สามารถจำกัดตัวเองอยู่เพียงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือคดีความเท่านั้น แต่ต้องเป็นกระบอกเสียงให้จำเลยที่กระซิบผ่านจากแดนตารางด้วย
มัน มีเรื่องหลายเรื่องที่อยากเล่าผ่านผู้อ่าน ซึ่งจริงๆแล้วผมได้ทยอยเขียนเป็นข้อความสั้นๆผ่านทางเฟซบุ๊ค ของผมแล้ว แต่นั่นอาจสื่อความหมายหรือข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน และบางครั้งก็กลับกลายเป็นปัญหาให้ตีความไปเสียหลายทาง ผมจึงขออนุญาตเขียนเป็นชิ้นงานขนาดกลางเพื่อเป็นการสื่อสารข้างต้น และในฉบับหลังๆ อาจขออนุญาตเล่าย้อนไปในเหตุการณ์ที่ประทับใจ หรือน่าสนใจในการทำงานช่วยเหลือทางกฎหมาย และแน่นอนว่ามันอาจไม่ได้เป็นงานเขียนระดับนักเขียนมืออาชีพ แต่น่าจะเป็นงานเขียนที่บอกเล่าสิ่งที่ผมในฐานะทนายความอยากเล่า และเป็นเสียงที่ผู้ต้องขังอยากบอกเช่นกัน…
…ประตู บานใหญ่ทะมึนหลังลูกกรงค่อยๆเปิิดออก ถาพที่ผมเห็น คือชายสามคนที่พยุงกันอออกมาหาทนายความ และหนึ่งในสามคนนั้นเป็นชายแก่ที่เดินเองไม่สะดวกด้วยอาการเท้าชาไม่มีแรง ทั้งอาการมะเร็งยังกำเริบอีก เขาชื่ออำพล ตั้งนพกุลหรือที่ผมเรียกว่า “อากง” ส่วนชายวัยหนุ่มอีกสองคนที่ทำหน้าที่บุรุษพยาบาล(จำเป็น) ที่คอยพยุงร่างของอากงออกมาคือ คุณหมี สุริยันต์ กกเปือย และ คุณหนุ่ม ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ทั้งสามเป็นจำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และติดคุกมาร่วมปีแล้ว
เรา มีเพียงกระจกกั้นเราไว้เป็นสองโลก คือโลกแห่งความจริงที่มีผมเป็นทนายความ และโลกแห่งแดนตาราง ที่มีทั้งสามคนกำลังอาศัยอยู่ เจ้าหน้าที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำในโลกของผม ส่วนอีกโลกเป็นพัดลมเพดานเล็กๆ ซึ่งคอยขับไล่เหงื่อของทั้งสามคนไม่ให้เปียกจนเกินไป
อา กงจะยกมือไหว้ผมและร้องไห้เสมอที่เจอหน้ากัน ด้วยอาการมะเร็งทำให้แกพูดไม่ค่อยชัดสักเท่าไหร่ แต่ที่จับใจความได้คือแกอยากให้ช่วยเรื่องประกันตัว ซึ่งทางทีมทนายความก็ได้ยื่นประกันตัวแล้วถึงสามครั้ง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากศาลสถิตยุติธรรม ผมได้แต่ปลอบใจและให้กำลังใจว่าเราจะพยายามพาอากงกลับบ้านให้ได้ ซึ่งคดีของอากงจะสืบพยานอีกทีในเดือนกันยายนนี้ โดยมีทนายเมย์ และพี่ทนายธีรพันธุ์ เป็นทีมทนายความสู้คดี โดยหากคดีนี้ศาลรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดจริง อากงอาจถูกตัดสินให้จำคุกถึง 60 ปี ( ตามกฎหมายอนุญาตให้จำคุกได้ 20 ปี) ซึ่งนี่อาจทำให้เสรีภาพในบั้นปลายถูกปล้นไปจากชีวิตเลยทีเดียว
ตอน เช้า ป้าอุ๊ ภรรยาอากงมาเยี่ยมและแจ้งว่า ลูกสาวของอากงต้องออกจากงานเพราะลามาทำเรื่องประกันอากงบ่อยไป และถูกนายจ้างบีบให้ออกในที่สุด (ความจริงผมทราบว่านายจ้างไม่ปลื้มที่ลูกน้องมีพ่อเป็นจำเลยคดีหมิ่นฯ๑๑๒ สักเท่าไหร่) ตอนนี้กำลังหางานทำอยู่ ส่วนป้าอุ๊ ก็ต้องดูแลหลานอีกสามคน ไม่สะดวกที่จะมาเยี่ยม แต่ด้วยความเห็นก่วง ป้าอุก็พยายามมาเยี่ยมให้ได้เดือนละ 2-3 ครั้ง และอากงแจ้งผมว่าให้ช่วยทำเรื่องขอให้หมอมารักษาด้วยเพราะแกมีอาการปวดและขากเสลดออกมาเป็นเลือดแล้ว…
ส่วน พี่หมี สุริยันต์ กกเปือย รายนี้ไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แกเป็นห่วงก็แต่พ่อกับแม่เท่านั้น ด้วยอาการโรคเบาหวานทำให้พ่อของพี่หมีไม่สามารถทำงานนานๆได้ ต้องพักอยู่บ่อยๆ ส่วนแม่ก็ต้องมาช่วยทำงาน ความลำบากของทั้งสองคนถูกสะกัดกั้นไม่ให้ผมบอกกับพี่หมีเพราะกลัวแกจะคิดมาก แต่ผมทราบว่าแกน่าจะรู้เพราะดูจากอาการที่ผมไปเยี่ยมทุกครั้งแแกจะฝากให้ไป เยี่ยมพ่อแม่แกด้วย…
คดี ของพี่หมีอยู่ในระหว่างการขอรับพระราชทานอภัยโทษ เพราะในคดี แกรับสารภาพว่าได้โทรศัพท์ไปกล่าวข้อความที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จริง ซึ่งศาลได้ตัดสินจำคุก 6 ปี กับ 30 วัน แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงได้รับการลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงต้องรอความเมตตาจากในหลวงเท่านั้นจึงจะทำให้พี่หมีได้กลับไปสู่อ้อมกอดของ ครอบครัวโดยเร็ว…
ผมหอบสำเนาสำนวนคดีหมิ่นฯของพี่หนุ่มไปฝากให้แกช่วยดูด้วย เพราะคดีของแกอยู่ในระหว่างเขียนอุทธรณ์ ซึ่งจะครบกำหนดยื่นในวันที่ 15 เมษายนนี้ แต่ทราบว่าทางศาลยังพิมพ์คำพิพากษายังไม่เสร็จ คงต้องขอขยายระยะเวลายื่นออกไปอีกสักพัก เพราะคดีนี้มีรายละเอียดเยอะมาก แต่โชคดีที่ได้ทีมงาน iLaw มาช่วยคดี และแน่นอนว่าแม้ผลของคดีจะออกมาไม่เป็นไปตามที่เราคาดไว้ แต่พี่หนุ่มก็ฝากขอบคุณทีมทนายทุกคน และให้กำลังใจในการทำงานต่อสู้กับคดีเหล่านนี้ต่อไป แกบอกว่าอยากให้ใช้เคสแกรณรงค์ถึงความอยุติธรรมของกฎหมายหมิ่นฯ และอยากให้สังคมเราก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
“วัน ที่ผมไปฟังคำพิพากษา พอเริ่มอ่านผมก็รู้แล้วว่าเขาลงโทษแน่ แต่ผมดีใจที่เพื่อนๆไปให้กำลังใจ โดยเฉพาะกลุ่มเรดนนท์ , ป้าอุษา, ทีมทนาย และเพื่อนๆของโลกไวเบอร์อีกหลายคนที่บางคนผมไม่เคยเห็นหน้าด้วยซ้ำ”
ผมแจ้งเรื่องเงินช่วยเหลือน้องเวป ลูกชายวัย 10 ขวบของแกให้ทราบ แกร้องไห้และฝากขอบทุกคุณท่านที่ช่วยดูแลน้องเวปมาด้วย
เจ้าหน้าที่ตะโกนบอกว่าอีก 5 นาทีหมดเวลาเยี่ยม เราร่ำลากันด้วยถ้อยคำอันคุ้นเคย ผมซื้อของฝากเข้าให้ทั้งสามคนโดยใช้เงินบริจาคจากบัญชีสำนักกฎหมายราษฎร ประสงค์ ผมเดาเอาว่าท่านที่บริจาคด้วยยอด 1,112 บาท คงประสงค์เพื่อการนี้ และแน่นอนผมไม่รู้หรอกว่าทั้งสามอยากได้อะไรเพราะทั้งสามคนไม่เคยเรียกร้อง อะไรจากทนายความเลย … ผมได้แต่คิดเอาเองว่าผมอยากกินอะไรก็ซื้ออันนั้น และไม่ลืมนมและเครื่องดื่มประเภทบำรุงรังนกสำหรับกำลังของอากง…
ภาพที่พี่หนุ่มกับพี่หมี พยุงร่างอากงกลับเข้าสู่แดนตารางทำให้ผมคิดถึงใครบางคน… ใครบางคนที่ไม่อาจเห็นภาพเหล่านี้ได้ นี่คือความไม่เท่าเทียมกันของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน …
ผม กลับออกจากเรือนจำตอนบ่ายสามโมง มารวมกับน้องทนายอีกสี่คนที่ไปเยี่ยมคดีเสื้อแดงและกำลังทำประสานเรื่อง ประกันตัวกับกรมคุ้มครองสิทธิ์อยู่ ทั้งสี่คนดูหัวยุ่งกันนิดหน่อย เราเดินคุยกันมาจนแว็ปเจอรถเข็ญขายส้มตำ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของอาการจู๊ดๆ ในขณะกำลังเขียนบันทึกฉบับนี้ !
http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/33897
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น