สนับสนุนการทำกิจกรรม ส่งเสริมประชาธิปไตยของชาวเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่

ชื่อบัญชี นปช.แดงเชียงใหม่ ธนาคารออมสิน เลขที่บัญชี 02 0012142 65 7 ( มีผู้รับผิดชอบบัญชี 3 ท่าน )

ติดต่อเรา deangchiangmai@gmail.com

ราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน บล็อค นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชนรุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้สร้างเวปบล็อคไว้ 2 ที่ คือที่นี่ “ แดงเจียงใหม่” สำหรับการบอกกล่าวในเรื่องทั่วไป และอีกที่หนึ่งคือ “ Daeng ChiangMai “ สำหรับข่าวสารที่เราเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารในการร่วมทำกิจกรรมของพี่น้องประชาชน


เชิญร่วมสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันครับ
“แดงเจียงใหม่” " Daeng ChiangMai "

รักประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ สร้างขวัญกำลังใจและความสุขเพื่อปวงชน

การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : สมุดปกขาวโดยสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ . ไพร่สู้บนเส้นทาง ๗๘ ปี ประชาธิปไตย ( ๒๔๗๕ - ๒๕๕๓ ) จรรยา ยิ้มประเสริฐ Voter's Uprising Thai

วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สำเนียงเสียงจาก “คีตาญชลี"...แด่ชุมชนมัฆวานผู้กระหายสงคราม?

Thu, 2011-02-17 21:40

นิธิวัต วรรณศิริ


"...หากฉันเป็นนก จะร้องขับขาน กล่อมดวงวิญญาณผู้กระหายสงคราม
ให้อยู่ด้วยความรัก อยู่ด้วยความงดงาม ด้วยความละ โลภ โกรธ หลง"

14 กุมภาพันธ์ 2554

เสียงขับร้องบทเพลงดังขึ้นในเวลาประมาณ 19.30 น. บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ เบื้องหน้าเต็มไปด้วยหนุ่มสาวนักกิจกรรม นิสิต นักศึกษา ที่ยืนเป็นวงล้อมรอบเครื่องหมายแห่งสันติภาพ ซึ่งบรรจงสร้างขึ้นมาด้วยดอกกุหลาบนับร้อยดอกจากฝีมือชาวไทย ชาวต่างชาติและหนุ่มสาวและผู้สัญจรผ่านไปมาบริเวณหน้าหอศิลป์ฯ ในบรรยากาศแห่งวันวาเลนไทน์ "วันแห่งความรัก" โดยร่วมกันจัดขึ้นในนามกลุ่มไม่เอาสงคราม ต้องการสันติภาพ

ในก่อนช่วงเวลาก่อนจะแยกย้าย เกิดไอเดียการร้องเพลงร่วมกันเพลงใดกันสักเพลงหนึ่ง เพื่อความรัก เพื่อสันติภาพเหนือเส้นสมมติแห่งเขตแดนไทย-กัมพูชา พวกเราจึงเลือกเพลง "เสียงจากคีตาญชลี"

ในวงการนักกิจกรรมทางสังคม นักกิจกรรมนักศึกษา หรือวงการ"เด็กค่าย" คงไม่มีใครคนไหนจะไม่รู้จักเพลง "เสียงจากคีตาญชลี" จากวงคีตาญชลีเป็นแน่ เพราะเป็นเพลงที่เนื้อหาดี มีความหมายลึกซึ้ง และไพเราะเสนาะหู เป็นเพลงแนว"เพื่อชีวิต"ตามความหมายโดยแท้จริงของวรรณกรรมแห่งเสียงเพลง

ในการออกค่ายต่างๆ ของนิสิตนักศึกษาก็มักจะหยิบยกมาร้อง มาเล่น มาสอนน้องๆ ให้ได้รู้จักเพลงนี้กันเสมอๆ


และเช่นกัน ในกิจกรรมต้านสงครามไทย-กัมพูชาที่จัดขึ้นครั้งนี้ ผู้ร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันตกลงเลือกใช้เพลงที่มี"เนื้อหา"ต่อต้านสงคราม สร้างความรัก ความงดงาม โดยไม่แบ่งแยกถิ่นฐานอาศัย ที่ทุกคนสามารถร้องร่วมกันได้มากที่สุด

ลงที่เพลง "เสียงจากคีตาญชลี"


จากเนื้อหาแห่งการ"ไม่สนับสนุนสงคราม"อย่างจับใจ ในวรรคท่อนฮุกของเพลง

"...หากฉันเป็นนก จะร้องขับขาน กล่อมดวงวิญญาณผู้กระหายสงคราม ให้อยู่ด้วยความรัก อยู่ด้วยความงดงาม ด้วยความละ โลภ โกรธ หลง"

ในราวปีพ.ศ. 2523-2524 อ๊อด สมศักดิ์ อิสมันยี และ ริน สุรินทร์ อิสมันยี สองสามีภรรยาชาวเพชรบุรี เดิมใช้ชื่อว่า วง"สายทิพย์" ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อ"วงคีตาญชลี"ซึ่งมีความหมายว่า "คารวะด้วยเสียงเพลง" ได้ออกอัลบั้มแรก ในชื่ออัลบั้ม เสียงจากคีตาญชลี และมีเพลงแรกของอัลบั้มชื่อเดียวกันนั่นเอง



สำหรับเพลง"เสียงจากคีตาญชลี"

เนื้อหาหลักๆ ของงานวรรณกรรมดนตรีชิ้นนี้ สื่อออกมาอย่างเรียบง่ายและสวยงาม ในทัศนะแห่งการ"ไม่อยากให้เกิดสงคราม"

"สงคราม" ซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำมือของชนชั้นปกครองไม่กี่คน "สงคราม" ซึ่งสร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินให้กับชนชั้นรากหญ้ากรรมาชีพรวมถึง เหล่าทหารชั้นผู้น้อยแนวหน้าที่ถูกส่งไปรับใช้ใน"ศึกสงครามที่ไม่ได้ก่อ"

...จากวันนั้นจนถึงวันนี้ บทเพลง "เสียงจากคีตาญชลี" ยังคงรักษาเจตนารมณ์แห่งอุดมการณ์ "ต่อต้านสงคราม" มาอย่างมั่นคงและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ทว่า.. หลังจากร้องเพลงจบ เพื่อนนักกิจกรรมรายหนึ่ง แจ้งว่า เมื่อวานนี้(วันที่13 ก.พ. 54) เจ้าของบทเพลงนี้(วงคีตาญชลี) เขาขึ้นร้องเพลง...บนเวทีพันธมิตรฯหน้าทำเนียบ...นะ

เหมือนอะไรบางอย่างมันแทรกตัวขึ้นจากท้องมาจุกอยู่ตรงคอ หลังจากที่ได้ทราบข่าวว่าศิลปินกลุ่มนี้ สนับสนุนพันธมิตรฯ

...ตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา

..คนกลุ่มนี้มิใช่หรือ? ที่พาคณะไปกัน 7 คน บุกข้ามเขตกัมพูชาไปหาหน่วยทหารฝั่งเขา ให้เขาจับ ? ยังไม่รวมประโยคยอดฮิตติดหูของส.ส.ประชาธิปัตย์ท่านหนึ่งที่เดินทางไปด้วย ว่า "กำลังจะข้ามไปเขมรแล้ว ห้ามบอกใครนะ เรื่องนี้นายกฯ รู้คนเดียว" จนในที่สุดก็ถูกจับทั้งคณะ เป็นเรื่องเป็นราวกันต่อมา

..คนกลุ่มนี้มิใช่หรือ? ที่ก่นด่า ยั่วยุนายกประเทศเพื่อนบ้าน จงเกลียดจงชัง หาประเด็นความคลั่งชาติมาปลุกปั่นให้เกิดข้อพิพาทอยู่ตลอดเวลา

..คนกลุ่มนี้มิใช่หรือ? ที่ถูกชาวบ้านในเขตชายแดน อ.กันทรลักษ์ขับไล่ไสส่งออกนอกพื้นที่เพราะทำให้พวกเขาต้องเดือดร้อน

..คนเหล่านี้มิใช่หรือ? ที่เรียกร้องแกมบังคับให้รัฐบาลและกองทัพไทย "ทำสงคราม" กับประเทศกัมพูชา

เมื่อก่อนเคยคิดมาเสมอว่า วงดนตรีต่างๆที่เกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ในช่วงยุคค้นหาของเหล่านักศึกษาและเสรีชน จะเกิดขึ้นเพื่อรับใช้อุดมการณ์เสรี อุดมการณ์ฝ่ายซ้าย ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดความเท่าเทียม

หลากหลายกวี บทประพันธ์ เนื้อหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเพลงยุคนั้นต่างถูกตั้งเป็นแนวทางแสวงหาอันใสซื่อบริสุทธิ์ของ หนุ่มสาวผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม หมายรวมถึงเนื้อหาของเพลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากผลงานของวง"คีตาญชลี"ด้วย

เคยเชื่อมาเสมอว่าบทเพลงเหล่านั้นคือบทเพลงแห่งอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย บทเพลงเพื่อรับใช้ประชาชนผู้ถูกกดขี่ และเคยเชื่อมาเสมอว่าศิลปินที่แต่งเพลงเหล่านั้น มีหัวใจและอุดมการณ์เสรีเพื่อรับใช้ประชาชนผู้แสวงหาความเป็นธรรมจากระบบ ระบอบที่กดขี่

http://www.manager.co.th/vdo/defaultrun.aspx?NewsID=5540000020760

ในกลางดึกคืนวันที่ 13 ก.พ. 2554

ภาพและเสียงของวง "คีตาญชลี" ปรากฎอยู่บนหน้าจอมอนิเตอร์ถ่ายทอดสดเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย



เสียงประกาศของ สุรินทร์ อิสมันยี (ริน คีตาญชลี) ดังกึกก้อง "เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคุณวีระและคุณราตรี และทหารเพื่อนทหารหาญของเราที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ชายแดนนะคะ" (นาทีที่ 3.15)

หลังจากนั้นจึงเริ่มร้องบรรเลงเพลง..

"บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า..."

...คือบทเพลงพระราชนิพนธ์"เราสู้" ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของเพลงปลุกใจฝ่ายขวาที่ถูกนำมาใช้กับการต่อสู้การเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุด

พร้อมจบด้วยถ้อยคำปราศัยสวยหรูหลังจบเพลง

ริน คีตาญชลี: ขอให้อย่าได้จัดฉาก อย่าได้สร้างภาพ ขอให้ความปลอดภัยมีแก่พี่น้องเราจริงๆ (นาทีที่7.29)

อ๊อด คีตาญชลี: มันแปลกอยู่อย่างนะครับ ไม่รู้ เราก็อยู่ในสถานการณ์นี้มานาน คนที่เคยดีๆ พอมาจวนตัวแล้ว ก็จะเปลี่ยนไปทุกที (นาทีที่7.47)

จากงานเขียนของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งได้ค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับประวัติเพลงนี้และได้ตีพิมพ์ไว้ในบทความ

เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519
(http://somsakwork.blogspot.com/2007/11/2518-2519.html)

มีอยู่ตอนหนึ่งว่า..

"เพลงพระราชนิพนธ์ เราสู้นี้เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงระบายความในพระราชหฤทัยของ พระองค์ท่านที่ทรงได้รับการข่มขู่จาก ภัยแดงที่มุ่งร้ายต่อเอกราชและอธิปไตยของประเทศอยู่ในขณะนี้ ว่าจะล้มล้างพระบรมราชจักรีวงศ์ให้สูญสิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทย แต่ก็มิได้ทรงหวาดหวั่นพรั่นพรึง ทรงยืนยันที่จะประทับอยู่สู้ภัยร่วมกับประชาชนพสกนิกรของท่านจนพระองค์สุด ท้าย จะไม่ทอดทิ้งประชาชนไปจากผืนแผ่นดินไทยเป็นอันขาด" สันติ ลุนเผ่ 30 มกราคม 2519 หนังสือพิมพ์ดาวสยาม


"แน่นอนว่า การที่ เราสู้เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ย่อมมีความหมายมากกว่าเพลงปลุกใจทั่วไป สำหรับ ดาวสยาม และกลุ่มพลังฝ่ายขวาอื่นๆ (กระทิงแดง, ลูกเสือชาวบ้าน, นวพล) ทุกครั้งที่ได้ยิน, ร้อง หรือเพียงแต่นึกถึงเพลงนี้ในใจ ย่อมสามารถรู้สึกได้ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำนั้นไม่เพียงแต่ถูกต้อง แต่เป็นพระราชประสงค์ พระราชบัญชา โดยตรง และแม้ในหลวงจะทรงมีพระราชดำรัสที่เป็นต้นกำเนิดของเพลงมาตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2518 หรือกระทั่งทรง ปรุกลอนที่เขียนจากพระราชดำรัสเป็น ส.ค.ส. ออกพระราชทานในวงจำกัด แต่การคงอยู่ในใจ, การพร้อมใช้ (ready-to-use) ของเพลงย่อมสูงกว่า และด้วยเหตุนี้จึง มีพลังกว่า พระราชดำรัสร้อยแก้วหรือกลอนธรรมดามาก" สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


เพลง"เราสู้" ยังคงถูกหยิบใช้ในโอกาสต่อๆ มาเป็นระยะในกระบวนการต่อสู้ของกลุ่มฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมและเหล่ารอยัลลิสต์ภายในประเทศ

และในครั้งนี้ก็ถูกหยิบยกกลับมาใช้อีกครั้งโดยวงดนตรีซึ่งครั้งหนึ่งผู้ เขียนเคยเชื่อว่าเขาต่อสู้บนอุดมการณ์"ฝ่ายซ้าย"ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตย ของประชาชน ในนามวง"คีตาญชลี" ซึ่งแปลว่า"คารวะด้วยเสียงเพลง"

...หากแต่วันนี้เสียงขับขานบทเพลง"เราสู้" คงมิใช่การคารวะกับประชาชนผู้ถูกกดขี่ การคารวะกับอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย หรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยใดๆ แล้วสิ้น

คงเหลือก็แต่ชื่อและเรื่องราวแห่งอุดมการณ์ในครั้งก่อนเก่า
สำเนียงเสียงจาก"คีตาญชลี" ฤๅเสียงดนตรีเลือกที่จะร้องขับขาน เลือกปลุกจิตเร้าใจกล่อมดวงวิญญาณ แด่ชุมชนมัฆวานผู้กระหายสงคราม ?
ละทิ้งจากแนวทาง"เพลงเพื่อชีวิตฝ่ายซ้าย" เข้าโอบกอด "เพลงปลุกใจฝ่ายขวา"

วันนี้ ณ เวทีพันธมิตรฯ วงดนตรีที่ชื่อ"คีตาญชลี" ร้องเพลงปลุกใจต่อเนื่องกันถึง 3 เพลง

ได้แก่

เพลง เราสู้ (นาทีที่ 3.15)

เพลง นักรบชายแดน (นาทีที่9.36)

และเพลงนกเขาเถื่อน 4(แต่งเนื้อร้องใหม่เพื่อการทวงคืนเขาพระวิหาร) (นาทีที่15.07)

คงไม่มีสิ่งใดที่จะสื่อออกมาได้ชัดเจนจากสามเพลงเหล่านี้ได้มากไปกว่าการ"สนับสนุนให้เกิดสงครามไทย-กัมพูชา"


...ขึ้นชื่อว่า"ซ้าย"ก่อนอื่นคุณต้องมองเห็นประชาชนทุกคน"เท่าเทียมกัน"

หากนักปฏิวัติฝ่ายซ้ายจักประกาศเรียกร้องสงคราม คงมีเพียงแค่"สงครามชนชั้น"เพื่อปฏิวัติโค่นล้มอำนาจชนชั้นปกครองผู้กดขี่ สร้างเสรีให้เหล่าประชาชนชั้นกรรมาชีพ หาใช่การประกาศเรียกร้อง"สงครามชาติพันธุ์"ซึ่งเป็นเพียงความต้องการของผู้ มีอำนาจในชนชั้นปกครองแต่นำพามาซึ่งความหายนะของเหล่าชนชั้นกรรมาชีพทุกๆ ชาติพันธุ์

กิจกรรมต้านสงครามของกลุ่มไม่เอาสงคราม ต้องการสันติภาพ ในวันวาเลนไทน์ปีนี้ บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ เราเลือกหยิบยกเพลง "เสียงจากคีตาญชลี" ขึ้นมาร้องเป็นเพลงปิดงานร่วมกัน

"...หากฉันเป็นนก จะร้องขับขาน กล่อมดวงวิญญาณผู้กระหายสงคราม ให้อยู่ด้วยความรัก อยู่ด้วยความงดงาม ด้วยความละ โลภ โกรธ หลง"

ตัวผู้เขียนมั่นใจว่าเราเลือกหยิบยกเพลงต่อต้านสงคราม ที่ตรงตาม "เนื้อหา" และ "อุดมการณ์" แห่งบทประพันธ์ในเนื้อร้องของเพลง"เสียงจากคีตาญชลี" ขึ้นมาร้องนี้ เรายึดมั่นในอุดมการณ์แห่ง"ตัวบทเพลง"

หากแต่วันนี้เมื่อเวลาผ่านไป"เจ้าของบทเพลง"กลับมีการกระทำอันย้อนแย้งใน อุดมการณ์แห่งตนเมื่อกว่า 30 ปีก่อน โดยการร่วมกับคนกลุ่มหนึ่งผลิตซ้ำแนวคิดชาตินิยม อนุรักษ์นิยม และเหยียดชาติพันธุ์อื่น เพื่อสนับสนุนความชอบธรรมในการ "ทำสงคราม" กับประเทศเพื่อนบ้านที่ชื่อ "กัมพูชา"

อุดมการณ์ล้านล้อมกล่อมบรรเลง
ตัวบทเพลงอยู่ยั้งยงคงไร้สี
ที่แปรผันหวั่นไหวเอียงเพียงนักกวี
คนดนตรีที่ประพันธ์นั้นตามกาล

สำเนียง..เสียงจาก คี ตาญชลี
ฤๅเสียงดนตรี เลือกที่..จะ ร้องขับขาน
เลือกปลุกจิต เร้าใจ..กล่อม ดวงวิญญาณ
แด่ชุมชนมัฆวาน..ผู้ กระหายสงคราม ?


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบประวัติเพลง"เราสู้"จากเว็บงานวิชาการของอ.ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519
http://somsakwork.blogspot.com/2007/11/2518-2519.html
ขอขอบคุณพี่เทวฤทธิ์ มณีฉาย กับข้อมูลจากการมอนิเตอร์เวทีพันธมิตรฯ
และขอขอบคุณผู้ร่วมกิจกรรม MAKE LOVE NO WAR และรูปเพิ่มเติมจากมิตรสหายในเฟซบุ๊กครับ

000000000


ชื่อบทความเดิม: สำเนียงเสียงจาก"คีตาญชลี" ฤๅเสียงดนตรีเลือกที่จะร้องขับขาน เลือกปลุกจิตเร้าใจกล่อมดวงวิญญาณ แด่ชุมชนมัฆวานผู้กระหายสงคราม ?


http://prachatai.com/journal/2011/02/33169



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น