Fri, 2011-05-20 10:09
ธีร์ อันมัย
นับจากวันที่เขาถูกเชิญตัวไปให้การที่โรงพัก บ้านไม้ซอมซ่อสองชั้นที่ตั้งอยู่ใกล้ปากทางเข้าชุมชนหาดสวนสุข ตำบลวาริน อำเภอวารินชำราบ ก็ไม่มีวันได้พบความสุขและจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีกเลย
29 มิถุนายน 2553 มีรถตู้มาจอดที่หน้าบ้านของเขา พร้อมเอาสำเนาบัตรประชาชนจากสำนักทะเบียนราษฎร์มาถามว่า นี่ใช่เขาไหม จากนั้นตำรวจนอกเครื่องแบบก็เชิญเขาไปให้ปากคำที่โรงพัก
“ตำรวจ ให้การในชั้นศาลว่า ผมเอาน้ำมันเทราด ทั้งที่วันนั้น ผมช่วยนำคนที่ถูกยิงไปส่งโรงพยาบาล กลับมาอีกรอบก็เข้าไปห้ามไม่ให้เขาเผาศาลากลางจังหวัด พยายามตามหาเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เจ้าหน้าที่หายไปไหน ทำไมไม่มาช่วยพวกผมด้บไฟ จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่า การเผาศาลากลางจังหวัดนั้น เป็นการวางแผนของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นอย่างนั้นใช่ไหม ?”
สมศักดิ์ ประสานทรัพย์ ชายผู้ผ่านครึ่งศตวรรษมาสองปีมีคำถามมากมายกับข้อกล่าวหาที่เขาได้รับ มีคำถามมากมายกับความอยุติธรรมที่เขาเผชิญ
มีเพื่อนบ้านเตือนและแนะนำให้เขาหลบหนีหลังจากเหตุการณ์วันนั้น แต่สมศักดิ์ยืนกรานไม่ไปไหน เพราะเขามั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเอง
“ผม เป็นทั้ง อป.พร. เป็นทั้งเหยี่ยวข่าวของ สภ.วารินชำราบ ผมจะไปเผาศาลากลางทำไม เมื่อตำรวจเชิญไปให้ปากคำ ผมก็ไม่คิดว่า ผมจะถูกยัดเยียดข้อหาอย่างไม่เป็นธรรม”
เขามี เมีย มีหลานชายสองคนที่จะต้องดูแล และยังมีลูกสาวคนโตของเขากำลังตั้งครรภ์รอคลอด ขณะที่พ่อแม่วัยชราก็ป่วยกระเสาะกระแสะด้วยเบาหวาน ความดันนั้น เขาก็ต้องเอาใจใส่ เขาถูกตั้งข้อหาร่วมกันวางเพลิง ชุมนุมเกินสิบคนขึ้นไป แต่กว่าเขาจะทราบข้อกล่าวหา เขาต้องถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจสองคืนก่อนส่งเข้าเรือนจำกลางจังหวัด อุบลราชธานี
ฝ่ายเมียเองก็วิ่งเต้นช่วยเหลือสามีเท่าที่คนจน จะสามารถทำได้ “ตำรวจบอกว่า หากได้เงินมาสองหมื่นเพื่อยื่นซื้อหลักทรัพย์ เขาก็จะได้รับการประกันตัว”
พัชรี ลาเสือ เมียของสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ ตัดสินใจเอาที่ดิน 1 ไร่ 91 ตารางวาที่เธออาศัยอยู่เป็นหลักประกันการกู้ยืม ได้เงินตามจำนวนที่ตำรวจบอกในเบื้องต้น แต่สุดท้ายเธอไม่สามารถประกันเอาอิสรภาพให้กับสามีได้ ขณะที่ไม่มีสามีเป็นกำลังหลัก รายได้หลักในครอบครัวก็หายไป หลานชายวัยขวบกว่าและสองขวบก็กำลังกินกำลังนอน วงเงินที่ได้ตกลงไว้กับผู้ปล่อยเงินกู้จึงถูกใช้ประทังชีวิตไปพร้อมกับความ หวังว่า เมื่อสมศักดิ์ถูกปล่อยตัวออกมาเขาจะสามารถทำงานรับจ้างเพื่อไถ่ถอนที่ดินได้
แต่เวลาผ่านเลยไปเกิน 10 เดือน สมศักดิ์ เพิ่งได้ขึ้นให้การในชั้นศาลในฐานะจำเลย และเป็นสิบเดือนที่สัญญาปากเปล่าเริ่มส่งผล เจ้าของเงินเริ่มขับไล่เธอทางอ้อมด้วยการถมที่รอบบ้านและผลักดันให้เธอออก จากที่ดินที่อาศัย
บ้านไม้ถูกรื้อลงกองกับพื้น ดินถูกถมและปรับใหม่ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2554 เธอกับลูกสาว ลูกเขยและหลานอีก 3 ชีวิต ต้องดั้นหน้าหาที่ซุกหัวนอนแห่งใหม่ก่อนฤดูฝนจะกระหน่ำชะตากรรมซ้ำเติมเธอ มากกว่านี้
โกศล แสงจันทร์ เพื่อนในชุมชนหาดสวนสุข ผู้มองเห็นความเดือดร้อนของเธอได้ยื่นข้อเสนอเป็นที่ดินราว 50 ตารางวา เพียงแต่ว่า ต้องหาเงิน 30,000 บาทมาจ่ายภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2554 นี้
เศษไม้ สังกะสีผุและกระเบื้องเก่าจากบ้านเก่าถูกกองไว้รวมกับกองไม้ไผ่ที่เพื่อน บ้านมอบให้สำหรับการสร้างบ้านหลังใหม่ ที่ใช้ไม้ไผ่ทำเสา ราวกับบ้านเด็กเล่น แต่นี่ คือ บ้านของจริง ที่ 6 ชีวิตหวังจะได้พักพิง
“ฉันจะขายแหนมคลุก จะขายกล้วยทอด(เพราะมีอุปกรณ์ มีรถเข็นที่ผู้มีน้ำใจมอบให้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา) ที่หน้าโรงเรียนหาดสวนสุข แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น จะต้องมีบ้านอยู่เสียก่อน ก่อนที่ฝนจะมา”
เธอมองไม่เห็นทางหรอกว่า เงินก้อนจำนวน 30,000 บาทนั้นจะมาจากไหน แต่เธอมองไปอนาคตไม่ไกลนี้ว่า หากมีคนยื่นมือเข้ามาช่วยในเบื้องต้นแล้ว ในท่ามกลางและในเบื้องปลายนั้น เธอจะลงมือสร้างมันด้วยตัวเอง
...
ทุกครั้งที่ไปเรือนจำ ทุกครั้งที่ไปขึ้นศาล สมศักดิ์ ประสานทรัพย์จะยิ้มทักทายและโอภาปราศรัยอย่างเบิกบานและมีความหวัง บางครั้งพลอยทำให้ผมผู้พาตัวเองเข้าไปเรียนรู้รับรู้ได้ถึงพลังที่เขาส่ง ผ่านมาให้
แต่ครั้งล่าสุดเมื่อ 12 พฤษภาคม 2554 หลังเลิกศาล ผมแอบเห็นเขานั่งกอดหลานชายเงียบงันที่มุมห้อง
“การให้ประกันตัว” เป็น ความหวังเดียวที่เขาจะกลับมากอบกู้สถานะทางบ้าน แต่เขาก็หวังแบบนี้มานานสิบเดือนแล้ว มันเป็นเป็นเพียงความหวังอันเลื่อนลอย เลื่อนลอยพอ ๆ กับความหวังที่ว่า จะมีความยุติธรรมเกิดขึ้นบนแผ่นดินนี้
..................................................................
อย่าลืมว่าพวกเขาถูกขัง อย่าขังพวกเขาจนลืม
ร่วมสมทบ “กองทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมือง เสื้อแดงอุบลราชธานี”ได้ที่
บัญชี ออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เลขที่บัญชี 393-0-234-343
ชื่อบัญชี น.ส.กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น หรือ นายเสนาะ เจริญพร หรือ นางเสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์
ติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลได้ที่
อีเมล์ fundforredfam@gmail.com
เฟซบุค www.facebook.com/redfamfund
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น