สนับสนุนการทำกิจกรรม ส่งเสริมประชาธิปไตยของชาวเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่

ชื่อบัญชี นปช.แดงเชียงใหม่ ธนาคารออมสิน เลขที่บัญชี 02 0012142 65 7 ( มีผู้รับผิดชอบบัญชี 3 ท่าน )

ติดต่อเรา deangchiangmai@gmail.com

ราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน บล็อค นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชนรุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้สร้างเวปบล็อคไว้ 2 ที่ คือที่นี่ “ แดงเจียงใหม่” สำหรับการบอกกล่าวในเรื่องทั่วไป และอีกที่หนึ่งคือ “ Daeng ChiangMai “ สำหรับข่าวสารที่เราเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารในการร่วมทำกิจกรรมของพี่น้องประชาชน


เชิญร่วมสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันครับ
“แดงเจียงใหม่” " Daeng ChiangMai "

รักประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ สร้างขวัญกำลังใจและความสุขเพื่อปวงชน

การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : สมุดปกขาวโดยสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ . ไพร่สู้บนเส้นทาง ๗๘ ปี ประชาธิปไตย ( ๒๔๗๕ - ๒๕๕๓ ) จรรยา ยิ้มประเสริฐ Voter's Uprising Thai

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เพ็ญ ภัคตะ เขียนถึงอ้ายหงวน

ประวัติศาสตร์กับนักการเมือง

Mon, 2011-07-04 18:58

เพ็ญ ภัคตะ

ฝันของนักประวัติศาสตร์ทั่วทั้งโลก ก็คืออยากเห็นนักการเมืองหรือผู้ปกครองบ้านเมืองสักคนหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับด้านประวัติศาสตร์บ้าง แม้เพียงน้อยนิดก็ยังดี มิอาจกล้าฝันลมๆ แล้งๆ ถึงขั้นให้นักการเมืองทุกคนต้องมาศึกษาเรียนรู้เรื่องประวัติความเป็นมาของชาติบ้านเมืองในระดับเจาะลึกอย่างละเอียดดังที่นักประวัติศาสตร์มืออาชีพเขาทำกันหรอก คือแค่เหลือบหางตาปรายมามองวงการนี้บ้างนิดๆ หน่อยๆ ก็ยังดี อย่างน้อยที่สุด ก็ช่วยสร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชนตาดำๆ ว่าเรายังมีผู้นำบ้านเมืองที่เข้าใจ ราก ของบรรพบุรุษ ยังพอรู้ว่าศิลปวัฒนธรรมสมัยไหนเป็นสมัยไหน สร้างความเชื่อมั่นได้ว่าคงไม่พาเราหลงเข้ารกเข้าพงแบบไร้ทิศผิดทาง

โชคดีอะไรเช่นนี้ที่นักการเมืองระดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดลำพูนท่านหนึ่ง มีความรอบรู้ในประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้งชนิดหาตัวจับได้ยาก และใช่แค่เพียงเฉพาะประวัติศาสตร์ของลำพูนหรือภาคเหนือเท่านั้น แต่ยังก้าวล่วงไปถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยทุกภาค ประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ ประวัติศาสตร์เอเชีย และท้ายที่สุดคือประวัติศาสตร์โลก

ยังมิทันต้องเอ่ยนามของนักการเมืองท่านนี้ เชื่อว่าชาวลำพูนทุกท่านได้แต่ร้องอ๋อ ในใจ เพราะกิตติศัพท์ของนักการเมืองหนึ่งเดียวผู้นี้โดดเด่นมาโดยตลอด ในฐานะนักพูดผู้รอบรู้ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนา ท่านมีมนตราสามารถสะกดคนฟังให้เคลิบเคลิ้มจนอยู่หมัด ไปพูดให้ใครฟังที่ไหนก็มีแต่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเปิดประเด็นใหม่ๆ ไม่ซ้ำซาก คอยสะกิดสะเกาให้ผู้ฟังได้หูผึ่งตะลึงงันกับข้อมูลที่ชวนให้อัศจรรย์ใจอยู่เสมอ แต่ทว่าทุกถ้อยคำนั้นแฝงนัยะหรือมูลเหตุที่น่าเชื่อถืออยู่ไม่มากก็น้อย ผิดบ้างถูกบ้างเราไม่ว่ากัน ดีกว่าคนที่ไม่รู้อะไรเอาเสียเลย จนหลายครั้งเราเกิดความฉงนงงงวยว่าท่านไปได้ข้อมูลแปลกๆ เหล่านั้นมาจากที่ไหน

ใช่แล้วค่ะ ท่านผู้นี้เป็นใครอื่นใดไปมิได้นอกเสียจาก ท่าน สส.สงวน พงษ์มณี หลายต่อหลายครั้งที่ สส. สงวน ได้ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรในรายการเสวนาปริทัศน์ พรมแดนแห่งความรู้ ที่พิพิธภัณฑ์ได้จัดขึ้น อาทิ หัวข้อ ไตโยนมาจากไหน "แม่ปิงเปลี่ยนสาย ล่มสลายเวียงกุมกาม" หรือการร่วมสำรวจแหล่งโบราณคดีค้นพบใหม่ด้วยกันหลายหนที่เวียงเกาะกลาง ทุกครั้งที่ได้คุยกับ สส.สงวน บรรยากาศการเสวนามักจะเต็มไปด้วยรสชาดและมีสีสันมากมายทุกครั้ง

"ดร.เพ็ญ ทราบไหมว่า เมืองที่คนลัวะคนเม็งสร้าง จะมีคำขึ้นต้นว่า "ละ" "หละ" หรือ "ระ" นับแต่ หละปูน ระมิงค์ ระมาด ละกอน (ลำปาง) ละโว้ เรื่อยไปจนถึง ระแงะ ส่วนเมืองที่กลุ่มคนไท(ย) สร้าง จะใช้คำว่า "เชียง" หรือ "เจียง" เชียงรุ่ง เชียงตุง เชียงของ เซียงไฮ้ เชียงใหม่ เชียงแสน เชียงราย"

ดิฉันไม่เคยลืมเลือน การตั้งข้อสังเกตอันลุ่มลึกนี้ของ สส.สงวนเลย และยังแอบหยิบเอาไปใช้บรรยายต่อให้ ลูกศิษย์ลูกหา และนักท่องเที่ยวฟังบ่อยๆ อีกความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในตำราเล่มใด ทว่าก้อนสมองของ สส.สงวนได้ฝังชิฟองค์ความรู้นี้ไว้ก็คือ

"ดร.เพ็ญลองคิดดูสิครับว่า ล้านนากับอยุธยา เป็นคนไท สายเลือดเดียวกัน แต่กลับชอบตีกันบ่อย บ่อยกว่าที่ล้านนาจะถูกพม่าตีเสียอีก เป็นเพราะอะไรรู้ไหมครับ เหตุก็เพราะว่า พื้นฐานการนับถือศาสนาของชาวล้านนานั้น มีรากมาจาก "พุทธ-ผี" เหมือนกับพวกพม่า แต่อยุธยา สุโขทัย มีรากจาก "พุทธ-พราหมณ์" ดังนั้นต่อให้สายเลือดไทยเหมือนกัน แต่คนล้านนาไม่เคยวางใจไทยอยุธยาเลย กลับรู้สึกอบอุ่นใกล้ชิดกับพวกม่านมากกว่า ทั้งๆ ที่พูดกันคนละภาษา"

เรื่องนี้มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด น่า่สนใจเหลือเกิน "พุทธ-ผี" กับ "พุทธ-พราหมณ์" แรงขับเคลื่อนให้เกิดสงครามและการทะเลาะไม่รู้จบระหว่างคนล้านนากับคนกรุงศรีอยุธยาสยามประเทศ จวบจนปรัตยุบัน ปฏิเสธได้ล่ะหรือว่าส่วนหนึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องลัทธิความเชื่อที่แตกต่าง

เส้นทางชีวิตของ สส.สงวน พงษ์มณี นั้นน่าสนใจยิ่ง ท่านบอกว่าจริงๆ แล้วท่านเป็นชาวลำพูนโดยกำเนิด แต่สมัยนี้จุดที่ท่านเกิดถูกตัดแบ่งกลายไปเป็นอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่เสียแล้ว เนื่องจากแม่น้ำปิงเปลี่ยนทางเดิน อย่างไรก็ดีท่านเติบโตและคลุกคลีมากับเหล่าตุ๊เจ้าที่คณะสะดือเมืองในวัดพระธาตุหริภุญชัย

เริ่มสนใจประวัติศาสตร์อย่างจริงจังก็เมื่อไปเป็นทหารที่เวียดนามตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่สนับสนุนสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็น บรรยากาศระส่ำระสายใกล้สิ้นชาติของชาวเวียดนามช่วงนั้นนั่นเองได้จุดประกายให้ท่านเริ่มต้นตั้งคำถามกับตัวเองถึงรากและที่มาที่ไปของคนไทย โดยมองภาพวิกฤติเวียดนามเป็นอุทาหรณ์

หลังจากนั้นเมื่อกลับมาประเทศไทย ชีวิตท่านได้พลิกผันอีกระลอกในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 6 ตุลา 2519 ท่านได้เข้าป่าร่วมกับขบวนการนิสิตนักศึกษาเพื่อเรียกร้องหาเสรีภาพ ใช้ชีวิตเร่ร่อนกลางป่าเขา ระหกระเหินเดินทางไกลไปสู่ต้นธารแม่น้ำโขงและเชิงผาหิมพานต์ จากระยะทางตลอดดินแดนล้านนาจนถึงประเทศภูฐาน ท่านได้เก็บตกเรื่องราวชีวิตเบี้ยใบ้รายทางของมนุษยชาติไว้มากมายหลายร้อยเล่มเกวียน แม้ยังไม่เคยเขียนหนังสืออย่างเป็นจริงเป็นจังเพื่อบันทึกความทรงจำ แต่ดูเหมือนว่าประสบการณ์ในวัยหนุ่มเหล่านั้นคือขุมทรัพ์อันล้ำค่าที่ท่านสามารถนำมาบอกเล่าได้ไม่รู้เบื่อและไม่เคยหมดสิ้น

ดิฉันเขียนถึงท่านครั้งนี้ เพราะรู้สึกดีใจที่ประเทศไทยมีนักการ เมืองที่เป็นนักอ่าน นักคิด นักค้นคว้า เรื่องราวทางวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม มิใช่ในดีกรีธรรมดาเสียด้วย แต่ท่านลุ่มหลงในระดับถึงขั้นเสพติด

คนลำพูนและคนไทยทั้งประเทศ เคยดึงขุมทรัพย์ที่ท่านมีอยู่อย่างมหาศาลมาใช้ให้เป็นประโยชน์สมภูมิบ้างแล้วหรือยัง ฤๅมองเพียงแค่ว่าท่านเป็น สส.คนหนึ่ง ซึ่งควรทำหน้าที่พัฒนาบ้านเมืองไป ไม่ต้องเข้ามามีบทบาทยุ่งเกี่ยวกับด้านประวัติศาสตร์ อันเป็นภาระโดยตรงของนักประวัติศาสตร์ หากใครยังคิดเช่นนี้ดิฉันคิดว่าเราได้ประเมินศักยภาพของท่านผิดไป ในฐานะนักการเมืองนั้นดิฉันไม่ทราบหรอกว่าท่านโดดเด่นในด้านใดบ้าง และเคยฝากผลงานอะไรให้แก่มหาชน แต่ในสายตาของนักวิชาการทางโบราณคดีแล้ว ท่านคือปูชนียบุคคลที่คนลำพูนควรรู้จักดึงท่านมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในด้านประวัติศาสตร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

อย่าลืมว่าทุกวันนี้ ศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งขายได้ จึงเกิดกระบวนการ วัฒนธรรมจัดตั้งขึ้นมามากมายทั่วทุกหัวระแหง และหากนักการเมืองหรือผู้ปกครองบ้านเมืองไม่รู้จักและเข้าไม่ถึงประวัติศาสตร์ที่แท้จริงในท้องถิ่นตน แยกแยะไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร กระแสโลกาภิวัฒน์หรือ ศิลปวัฒนธรรมฉบับแปลกปลอม ที่ถูกสร้างขึ้นจากคนที่ไม่รู้จริงก็จักแผ่ซ่านกระจายผุดพรายเป็นดอกเห็ด

นี่แหละ คือคำตอบว่าทำไมดิฉันจึงใฝ่ฝันที่จะเห็นนักการเมืองสนใจประวัติศาสตร์

"รอให้ผมว่างๆ หลังวางมือจากการเมือง ผมจะช่วยด็อกเตอร์เพ็ญเรียบเรียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลำพูน เชื่อว่าสะเทือนทั้งวงการแน่ เพราะมันเป็นประวัติศาสตร์นอกกระแส!!!`"

ตอนนี้ดิฉันว่างและพร้อมจะเรียบเรียงประวัติศาสตร์หน้านั้นแล้วล่ะค่ะ ว่าแต่ว่าท่าน สส. เมื่อไหร่ท่านจะว่างล่ะคะ?

* อนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้จังหวัดที่มียอดผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุด คือ จ.ลำพูน โดยมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต คิดเป็นร้อยละ 88.61 ส่วนผลการเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ) เขต 1 จังหวัดลำพูน อันดับ 1 หมายเลข 1 นายสงวน พงษ์มณี พรรค เพื่อไทย 89,324 คะแนน , อันดับ 2 หมายเลข 10 นายสมานฉันท์ ชมพูเทพ พรรคประชาธิปัตย์ 30,945 คะแนน , อันดับ 3 หมายเลข 2 นาย ณัฎฐ์พัชร์ อำนาจประชา พรรค ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 5,318 คะแนน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น